หยุดอาการปวดส้นเท้า ก่อนลุกลามไปอวัยวะส่วนอื่น
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
ปวดส้นเท้า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบของพังผืดส้นเท้า ที่อยู่ระหว่างกระดูกส้นเท้าบริเวณใต้ส้นเท้าถึงโคนนิ้วเท้า พบในผู้ที่ทำงานใช้ส้นเท้ารองรับน้ำหนัก ซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่น ต้องเดินหรือยืนเป็นระยะเวลานานๆ ในคนอ้วนหรือหญิงตั้งครรภ์ ในผู้ที่มีรูปเท้าแบนหรือโค้งมากๆ การสวมรองเท้าพื้นแข็งหรือไม่พอดีกับรูปเท้า อาจทำให้มีโอกาสเป็นพังผืดส้นเท้าอักเสบได้มากกว่าคนปกติ
สารบัญ
อาการปวดส้นเท้า
ผู้ที่เป็นมักจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้าหลังการเดิน อาจปวดหลังตื่นนอนตอนเช้า จะมีอาการปวดมากในก้าวแรกที่ลงจากเตียง หรือปวดหลังจากหยุดกิจกรรมประจำวัน หรือหลังออกกำลังกายแล้วในช่วงเย็น หากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาการอาจจะลุกลามไปถึงบริเวณน่อง เข่า สะโพกและหลังได้ อีกทั้งพังผืดส้นเท้าอักเสบอาจทำให้ท่าทางการเดินเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
การรักษาอาการปวดส้นเท้า
- การพักการใช้งาน พยายามลดการลงน้ำหนักบริเวณส้นเท้าจนกว่าจะหายปวด
- อาจใช้ความเย็นลดการอักเสบโดยใช้ผ้าชิ้นเล็กๆ ไปแช่ช่องแข็งแล้วนำมาถูบริเวณส้นเท้าโดยใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที หรือแช่ส้นเท้าในน้ำเย็นประมาณ 10-15 นาทีหรือใช้ถุงเย็นประคบประมาณ 15-20 นาที การใช้ความเย็น ควรทำหลังออกกำลังกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อแล้ว
- รับประทานยาแก้ปวด บริหารเพื่อยืดเหยียดเอ็นร้อยหวายและพังผืดบริเวณส้นเท้า เพื่อรักษาและป้องกันอาการปวดไม่ให้กลับมาเป็นอีก
- การใช้ยาต้านการอักเสบชนิดรับประทาน ซึ่งได้ผลค่อนข้างดี แต่อาจมีผลข้างเคียงกับผู้มีปัญหาเรื่อง ระบบทางเดินอาหาร อาจมีการปวดท้องได้ บางกรณีแพทย์อาจเลือกใช้วิธีฉีดยาต้านการอักเสบบริเวณส้นเท้าแทน
- ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือการอักเสบเรื้อรังจนทำให้เกิดกระดูกงอกบริเวณส้นเท้า การผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้ายที่จะใช้การรักษาพังผืดส้นเท้าอักเสบ
การป้องกันอาการปวดส้นเท้า
- กรณีที่มีปัญหาเรื่องความผิดปกติของเท้า เช่น อุ้งเท้าแบนราบอาจจะต้องหารองเท้าที่เสริมความโค้งของฝ่าเท้าเพื่อรองรับน้ำหนักได้ดีขึ้น
- ควรใส่รองเท้าหุ้มส้นที่กระชับพอดีบริเวณส้นเท้า พิ้นรองเท้าควรมีความนุ่มยืดหยุ่นรองรับกระแทกได้ดี บางรายอาจต้องใช้แผ่นรองส้นเท้าเพื่อลดแรงกระแทก เช่น เวลาเดินมากหรือออกกำลังกาย
- บางกรณีอาจต้องใส่เฝือกในตอนกลางคืนเพื่อปรับเท้าอยู่ในท่าปกติ จะทำให้กล้ามเนื้อน่องและพังผืดส้นเท้ายืดเหยียดขณะหลับ ช่วยให้การอักเสบของพังผืดส้นเท้าดีขึ้น และลดอาการเจ็บปวดหลังตื่นนอน
- อาการส่วนใหญ่จะดีขึ้นแต่อาจต้องใช้เวลาในการรักษาและดูแลเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และอาจกลับมาปวดได้อีกภายในระยะเวลา 1-2 ปี
- การป้องกันระยะยาวเพื่อไม่ให้อาการเกิดซ้ำอีก ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมการใช้งานเท้าการยืนหรือเดินนานเกินไป ควบคุมไม่ให้น้ำหนักเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะกับเท้าและรองรับแรงกระแทกได้ดี
- เลี่ยงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และบริหารตามคำแนะนำข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการปวดแล้วก็ตาม เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่องและส้นเท้า ท่านก็จะหายจากอาการปวดส้นเท้าและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
การบริหารเท้า
การบริหารเท้าสามารถทำได้ ถ้าไม่ทำให้อาการปวดแย่ลงและสามารถทำร่วมกับการรักษาด้านอื่นๆ ได้
1. ยืดเอ็นร้อยหวาย โดยหันหน้าเข้าหาและมือดันกำแพง ขาหนึ่งก้าวไปข้างหน้างอเข่า ขาด้านหลังเหยียดตรง ส้นเท้าติดพื้น ทำค้างไว้แล้วนับ 1-10 แล้วพักทำซ้ำ 10 ครั้ง | |
2. ยืนย่อเข่าให้เท้าเหลื่อมกันเล็กน้อย มือจับขอบโต๊ะไว้นับ 1-10 แล้ว พักทำซ้ำ 10 ครั้ง จะรู้สึกตึงบริเวณเอ็นร้อยหวายและส้นเท้า | |
3. ยืนบนขอบบันได เข่าตึงกดส้นเท้าลง หรืออาจยืนบนพื้นเอียงนับ 1-10 แล้วพักทำซ้ำ 10 ครั้ง เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและเอ็นร้อยหวาย | |
4. การยืดพังผืดฝ่าเท้าแบบต่อเนื่องโดยใช้เท้าเหยียบบนกระป๋องขนาด 15 ออนซ์ อาจใส่น้ำร้อน หรืออาจใช้ลูกเทนนิสคลึงฝ่าเท้าไปมา ทำครั้งละ 5-10 นาที เช้า-เย็น | |
5. การกดนวดบริเวณพังผืดโดยวางส้นเท้าลงกับพื้นกระดกข้อเท้าขึ้นวางนิ้วชี้และนิ้วกลาง บริเวณกลางส้นเท้าออกแรงกดนับ 1-10 แล้วพักทำซ้ำ 10-20 ครั้ง | |
6. การเหยียดกล้ามเนื้อน่อง โดยใช้ผ้าเช็ดตัวทำได้โดยการนั่งเหยียดขาให้เข่าเหยียดตรง ใช้ผ้าคล้องปลายเท้ามือจับชายผ้าทั้ง 2 ข้างดึงผ้าให้ตึงนับ 1-10 พักทำซ้ำ 10-20 ครั้ง |
การบริหารข้อไหล่ควรเริ่มทำภายหลังจากอาการปวดเริ่มทุเลาลง แล้วเริ่มด้วยจำนวนครั้งน้อยๆ และทำในท่าแรกๆ ก่อนถ้าไม่ปวดก็ค่อยทำจนครบทั้งหมด การรักษาอาการปวดไหล่อาจต้องใช้เวลาในการรักษา และต้องอาศัยการบริหารข้อไหล่อย่างเสมอ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ทำการรักษาอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ