มีลูกยาก อยากท้องต้องทำยังไง เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคู่รักที่อยากมีลูก

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร

มีลูกยาก อยากท้องต้องทำยังไง เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคู่รักที่อยากมีลูก

ตั้งครรภ์ยาก หรือ มีลูกยาก ถือว่าเป็นปัญหาที่พบได้ในคู่รักหลายคู่ แม้ว่าจะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่มีท่าทีว่าจะมีลูกเหมือนครอบครัวอื่นกับเขาสักที สาเหตุส่วนหนึ่งนั่นอาจเป็นเพราะ การตั้งครรภ์เป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การใช้ชีวิต ความเครียด รวมไปถึงความพร้อมทางด้านสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้

ฉะนั้น สำหรับคู่รักที่อยากจะตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ อยากมีลูกง่ายอย่างใจหวัง เรามีคำแนะนำมาฝาก ซึ่งวิธีเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์กับคู่รักที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ มาให้ปฏิบัติตามกัน


1. วางแผนตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุไม่เกิน 35 ปี เพื่อลดเสี่ยง มีลูกยาก

การวางแผนตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภง่ายขึ้น ซึ่งช่วงวัยที่เหมาะสมของโอกาสในการตั้งครรภ์สูงคือ ช่วงอายุ 20-30 ปี เนื่องจากช่วงวัยนี้ ร่างกายของฝ่ายหญิงจะมีความสมบูรณ์ แข็งแรงและฮอร์โมนหญิงอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ในช่วงวัยนี้ ยังมีโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้น้อยกว่าช่วงวัยอื่นๆ อีกด้วย

> กลับสารบัญ


2. ทำความรู้จักวันตกไข่ หรือ วันไข่ตก

คุณอาจไม่ได้มีลูกยาก หากคุณวางแผนที่จะมีลูกต้องเข้าใจรอบเดือนของตัวเอง ว่าเวลาใดที่คุณจะมีการตกไข่ การนับวันตกไข่เป็นหนึ่งในวิธีที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนช่วงตกไข่ประมาณ 1-2 วัน จะทำให้อสุจิเข้าไปรอที่รังไข่เพื่อรอให้ไข่ตกลงมา และทำการปฏิสนธิจนเกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด ทั้งนี้วันไข่ตกอาจแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน โดยปกติแล้วไข่จะตกในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา ถ้าผู้หญิงมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอและมีรอบเดือนมาทุกๆ 28 วันเสมอ วันไข่ตกก็อยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน

วิธีคำนวณวันไข่ตก

การคำนวณวันไข่ตก อับดับแรก จะต้องทำการจดบันทึกวันที่ประจำเดือนมาไว้ทุกเดือนเป็นระยะเวลา 8-12 เดือน แล้วนำมาทำการคำนวณหา ดังนี้

  1. หาความยาวรอบเดือน ให้นับย้อนไป วันแรกที่มีประจำเดือน เดือนล่าสุด ถึง วันแรกที่มีประจำเดือน เดือนที่แล้ว เช่น เดือนล่าสุด คือ วันที่ 8 มี.ค. เดือนที่แล้ว 6 เม.ย. เมื่อนับแล้วมีความยาวรอบเดือน 30 วัน
  2. หาวันตกไข่ โดยนำเอา ความยาวรอบเดือน – ระยะที่ไข่ตก เช่น 30 วัน – 14 วัน = วันไข่ตก คือ วันที่ 16 ของความยาวรอบเดือน จากนั้น นำวันแรกของการมีประจำเดือน เดือนล่าสุด คือ วันที่ 8 มี.ค. แล้วนับไป 16 วัน ก็จะได้วันไข่ตก คือ 23 มี.ค. เมื่อทราบวันไข่ตกแล้ว สามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนวันตกไข่ และหลังวันตกไข่ได้ประมาณ 2 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ไข่และอสุจิได้มาเจอกันมากที่สุด

> กลับสารบัญ


3. ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์

แนะนำควรมีวันเว้นวันหรือ 2 วันครั้ง ไม่ควรจะหักโหมมีทุกวัน แม้ว่าการมีทุกวันจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้จริง แต่ความเหนื่อยอาจเพิ่มความเครียดและทำให้ปริมาณของอสุจิลดน้อยลง ไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งท่าการมีเพศสัมพันธ์ก็มีส่วนช่วยได้อีกทางหนึ่ง โดยท่ามิชชันนารี หรือท่าที่ผู้หญิงนอนหงายอยู่ด้านล่าง ส่วนฝ่ายชายอยู่ด้านบน เป็นท่าที่สามารถมีลูกได้ง่ายที่สุด นอกจากนี้ หลังจากมีเพศสัมพันธ์แนะนำให้ฝ่ายหญิงนอนหงาย โดยเอาหมอนหนุนสะโพกให้ยกสูงขึ้นแล้วค้างเอาไว้อย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้อสุจิวิ่งไปผสมกับไข่ได้ดียิ่งขึ้น (ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอเกิน 6 เดือน ถือว่ามีบุตรยาก หรือ มีลูกยาก)

> กลับสารบัญ




4. ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน

หากมีการวางแผนตั้งครรภ์แล้ว การบำรุงร่างกายรับประทานอาหารอาหารให้ครบ 5 หมู่และสารอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีสุขภาพร่างกายและระบบสืบพันธุ์ที่แข็งแรง พร้อมที่จะมีลูก โดยอาหารหลายชนิดมีบทบาทสำคัญ เช่น

  • ผักใบเขียวมีโฟเลตและวิตามินบีสูง ช่วยเร่งการตกไข่ของฝ่ายหญิง และทำให้อสุจิของฝ่ายชายแข็งแรงขึ้น
  • รับประทานถั่ว ธัญพืช มากขึ้น เพราะอุดมด้วยโปรตีน และธาตุเหล็ก มีส่วนช่วยให้ฝ่ายหญิงมีมดลูกแข็งแรงและผลิตไข่ที่มีคุณภาพ
  • รับประทานปลามีโปรตีน วิตามินดี และไขมันต่ำ เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มโปรตีนจากพืชมากกว่าจากเนื้อสัตว์ เช่น เมล็ดถั่ว ถั่วเหลือง หรือ เต้าหู้
  • ควรรับประทานอาหารที่มี สังกะสี แมงกานีส และเบต้าแคโรทีน เช่น แครอทที่จะช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิและระดับฮอร์โมนเพศโปรเจสเตอโรน ส่วนแอปริคอตมีสารเบต้าแคโรทีนและแมงกานีสสูง ซึ่งสารอาหารทั้งสองชนิดถูกใช้ในการสร้างฮอร์โมน
  • อาหารที่มีวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศ
  • รับประทานอาหารที่มีโฟเลต หรือ กรดโฟลิก เช่น ผักใบสีเขียวเข้ม แครอท อาโวคาโด ธัญพืชที่ขัดสีน้อย ขนมปังไม่ขัดสี ผักโขม ถั่ว ฟักทอง มะเขือเทศ ตับ ไข่แดง เป็นต้น

> กลับสารบัญ


5. ลดความเครียด

ความเครียดจะส่งผลรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดภาวะไม่ตกไข่ ทำให้ไข่เจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ในฝ่ายหญิง ส่วนในฝ่ายชาย ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน และอสุจิลดต่ำลง เป็นผลของการมีลูกยากนั้นเอง

> กลับสารบัญ


6. งดคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และบุหรี่

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะส่งผลให้มีลูกยากมากขึ้น สำหรับแอลกอฮอล์ และบุหรี่ จะทำให้ปริมาณของอสุจิลดลง ไม่มีคุณภาพ ไม่แข็งแรง ฮอร์โมนผิดปกติ และลดการตกไข่ของฝ่ายหญิง

> กลับสารบัญ


คำแนะนำเหล่านี้ อาจช่วยให้คู่รักมีโอกาสตั้งครรภ์มีลูกเพิ่มมากขึ้น แต่หากพยายามตั้งครรภ์เป็นเวลานานแล้วไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีลูกยาก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตร เพราะการปรึกษา จะช่วยให้ได้รับข้อมูลและคำตอบเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง พร้อมตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติ และทำการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบผลสำเร็จ


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย