อย่าชะล่าใจ! แค่น้ำเข้าหูอาจเสี่ยงเป็นหูชั้นนอกอักเสบได้
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาน้ำเข้าหูมาแล้ว ซึ่งอาจเกิดระหว่างการว่ายน้ำ อาบน้ำหรือสระผม ทำให้เกิดอาการหูอื้อ รู้สึกเหมือนมีเสียงน้ำอยู่ในหู บางครั้งทำให้การได้ยินลดลงจนเกิดความรำคาญ ในขณะที่หลายคนพยายามจะเอาน้ำออกจากหูด้วยวิธีต่างๆ เช่น ตะแคงหัวแล้วตบที่หู การเอียงหูแล้วกระโดดโยกหัวแรงๆ รวมไปถึงการเอาน้ำหยอดลงในหูอีกครั้งให้เต็มโดยให้ไหลออกมาเอง หรือบางคนใช้ไม้แคะหู ปั่นหู เพื่อเอาน้ำออกจนเกิดแผลถลอกและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบตามมาได้ แต่รู้หรือไม่ว่าการว่ายน้ำก็อาจทำให้เกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบ หรือที่เรียกว่า “Swimmer Ear” ได้ด้วยเช่นกัน
สารบัญ
สาเหตุของหูชั้นนอกอักเสบ
โดยปกติในสรีระร่างกายทางธรรมชาติ รูหูส่วนนอกมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ และสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าไปได้ แต่ก็มีปัจจัยหลายๆ สาเหตุที่ทำให้การป้องกันนี้เสื่อมสภาพลงไปและเกิดอันตรายต่อหูชั้นนอกตามมาได้ นั่นก็คือ
- ความเครียดทางอารมณ์ เมื่อเครียดมากเราอาจแสดงออกโดยการใช้นิ้วมือหรือวัตถุอื่นเขี่ยในหู ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยถลอก และเกิดการอักเสบตามมาจากการถลอกหรือรอยแผลนั้น
- การแคะหู หรือ เขี่ยขี้หูออก ซึ่งเป็นความเข้าใจของหลายๆ คนว่า ขี้หูเป็นสิ่งสกปรก ต้องทำให้หมดไป จึงทำให้ไขมันที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังรูหูที่เคลือบอยู่หลุดออกไป และการแคะหูบ่อยๆ อาจนำมาซึ่งการอักเสบได้
- ความร้อนและความชื้น สภาวะอากาศและอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคต่างๆ เจริญเติบโตได้ดีมากขึ้น
- ผู้ที่มีรูหูแคบและขี้หูมาก เมื่อน้ำเข้าหูก็ไม่สามารถระบายออกมาได้ ต้องเช็ดหรือแคะหู ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ
- การว่ายน้ำ ดำน้ำ ทำให้ขี้หูถูกละลายออกไป เกิดภาวะเป็นด่างในรูหู เชื้อโรคจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดี
- โรคทางระบบอื่นๆ เช่น โรคของระบบต่อมไร้ท่อ โรคเลือด โรคขาดวิตามิน โรคผิวหนังบางชนิด ภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส แพ้เครื่องช่วยฟัง แพ้น้ำยาจากการล้างชิ้นส่วนของแว่นตา ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้
หูชั้นนอกอักเสบมีอาการอย่างไร
อาการของหูชั้นนอกอักเสบติดเชื้อ ได้แก่
- คันในรูหู ปวดหู หูอื้อ
- ความสามารถในการได้ยินลดลง
- มีน้ำหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหู
- เมื่อใช้เครื่องมือส่องดูในช่องหู ทำให้มองเห็นแก้วหูไม่ชัด มีช่องหูแดง
- ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ เนื่องจากติดเชื้อเป็นฝีหนอง
- กดแล้วมีอาการเจ็บบริเวณหน้าใบหู โยกใบหูแล้วเจ็บมากขึ้น
ทำอย่างไรเมื่อน้ำเข้าหู
โดยปกติช่องหูชั้นนอกจะเป็นรูปตัวเอส (S) ฉะนั้นเมื่อมีน้ำเข้าหู ควรปฏิบัติดังนี้
- เอียงศีรษะ เอาหูข้างที่น้ำเข้าลงต่ำและดึงใบหูให้กางออก
- ดึงใบหูขึ้นบนและไปทางด้านหลังเพื่อทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง จะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ง่าย
- ไม่ควรปั่นหรือแคะหูเพราะจะทำให้หูอักเสบ
- หากปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นแล้วน้ำยังไม่ออกจากช่องหูแนะนำพบแพทย์หู คอ จมูก
การตรวจน้ำเข้าหูและหูชั้นนอกอักเสบรักษาอย่างไร
ในการตรวจและการดูแลรักษา เบื้องต้นแพทย์จะส่องตรวจหูด้วยเครื่องมือประเมินการบวมอักเสบของช่องหูว่ามีอาการบวมมากน้อยเพียงใด โดยมีขั้นตอนการรักษาดังนี้
- ถ้าพบว่าหูมีอาการบวมมาก แพทย์จะใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ (Ear wick) ชุบยาหยอดหูไว้ที่หูชั้นนอกร่วมกับให้ยาหยอดหู เช่น Sofradex ในรายที่หูชั้นนอกอักเสบเฉพาะที่ เพื่อให้ยาซึมเข้าไปในช่องหูด้านในได้ดีขึ้น และนัดเปลี่ยน Ear wick ประมาณ 2 – 3 วัน
- ยารับประทาน ได้แก่ ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะกลุ่ม Penicillin เช่น Cloxacillin (กรณีผู้ป่วยแพ้ยา Penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยา Clindamycin แทน) เพื่อครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ส่วนใหญ่ คือ Staphylococcus aureus แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานหรือมีหูชั้นนอกอักเสบแบบทั่ว ๆ อาจใช้ยาเป็นกลุ่ม Quinolone เช่น Ciprofloxacin เพื่อครอบคลุมเชื้อ Pseudomonas aeruginosa เป็นต้น
- ยาอื่นๆ มักใช้เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวด ใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์หู คอ จมูก
- แพทย์อาจจะนัดตรวจติดตามอาการทุก 2 - 3 วัน ตามความรุนแรงของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์หู คอ จมูก จนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 7 - 14 วัน
วิธีป้องกันหูชั้นนอกอักเสบ
ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันทีบางครั้งอาจจะต้องใช้น้ำสะอาดล้างตาอาจจะใช้น้ำตาเทียมซึ่งจะช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ใช้ผ้าเย็นปิดตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้น เพื่อลดอาการบวมอาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้
- เมื่อน้ำเข้าหู ให้เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าหูลงต่ำ ดึงใบหูกางออกไปทางด้านหลัง จะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้
- ทุกครั้งที่ว่ายน้ำ ควรใช้วัสดุอุดรูหู (Earplug)
- ใช้หมวกคลุมผม คลุมปิดใบหูทุกครั้งเวลาอาบน้ำ
- ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ
- ไม่ซื้อยาหยอดหู มาใช้เอง
- เมื่อมีอาการคันหูมากๆ ใช้วิธีดึงขยับใบหูเบาๆ ไม่ควรแคะหรือปั่นหู
- หากมีอาการคันหูมาก หูอื้อ และเป็นบ่อยครั้ง หรือมีอาการหูอักเสบเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์
ทั้งนี้เมื่อรักษาหูชั้นนอกอักเสบจนหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปว่ายน้ำได้ตามปกติ แต่แนะนำให้ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู และห้ามปั่นหู เนื่องจากมีโอกาสที่หูชั้นนอกจะกลับมาอักเสบได้อีก
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก