อย่าปล่อยให้ “อาการปวดคอ” เป็นปัญหากวนใจ
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
คอ เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างศีรษะและลำตัว ประกอบด้วยกระดูกคอ 7 ชิ้น และมีกระดูกอ่อนเป็นหมอนรองคั่นระหว่างกระดูกแต่ละชิ้น เมื่อเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ กัน หมอนรองกระดูกจะถูกกด ซึ่งมีกล้ามเนื้อและเอ็นคอยป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย นอกจากนี้บริเวณคอยังเป็นทางผ่านของ ประสาทไขสันหลัง รากประสาท และหลอดเลือดโลหิตดำและแดง ดังนั้น คอจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ควรระมัดระวังไม่ให้ได้รับอันตราย
สารบัญ
สาเหตุอาการปวดคอ
อาการปวดคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- การใช้คอในท่าทาง และรูปร่างที่ผิด เช่น นอนคว่ำอ่านหนังสือ
- ความเครียดจากการทำงาน ซึ่งคอต้องอยู่ในท่าเดียวเป็นเวลานานๆ เช่น การนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- อุบัติเหตุที่เกิดกับบริเวณคอโดยตรง
- ความเสื่อมของอวัยวะเมื่อมีอายุมากขึ้น
- จากสาเหตุอื่นๆ เช่น การแพร่กระจายของมะเร็งสู่บริเวณคอ
ลักษณะของอาการปวดคอ
- ปวดบริเวณต้นคอด้านหลังทั้งสองข้าง
- ทำให้เคลื่อนไหวคอได้น้อยลงเนื่องอาการปวด
- อาจมีการปวดร้าวไปที่ศีรษะ ข้างแก้ม ท้ายทอย หลัง อกส่วนบน แขนและมือ หรือมีอาการชาร่วมด้วย
การรักษาอาการปวดคอ
- อาการปวดคอเฉียบพลัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักคอนิ่งๆ หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงคอ (คอลล่า) ร่วมกับการใช้น้ำอุ่นประคบ การใช้ยาลดการอับเสบและลดปวดร่วมกับการใช้ยาทาภายนอก
- อาการปวดคอเรื้อรัง รักษาโดยการกำจัดสาเหตุเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง แพทย์จะตรวจวินิจฉัย หรือแนะนำให้ทำ MRI เพื่อตรวจสแกนแบบละเอียด ค้นหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริง
- การรักษาโดยการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของประสาทไขสันหลังถูกกด หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลังส่วนคอ ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น
เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดคอ สามารถป้องกันได้ดังนี้
- ควรวางคอในท่าปกติเสมอ คือ ศีรษะ คอ คาง ไหล่ตรง ตามองตรงในระดับสายตา
- ไม่เอียงคอ หันคอ หรือสะบัดคอแรงๆ
- ไม่อยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น ก้มหน้า เงยหน้า เอียงคอ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักซึ่งต้องเกร็งไหล่และคอตลอดเวลา
- ไม่นั่งหลับในขณะรถแล่นอยู่ เพราะถ้ารถกระชาก จะทำให้ศีรษะถูกกระชากไปด้วย ก่อให้เกิดอาการปวดคอได้
- ไม่หนุนหมอนแข็งหรือนุ่มเกินไป ความสูงของหมอนควรได้ระดับไหล่ เมื่อนอนตะแคงถ้าหมอนสูงไปกระดูกคอจะงอ ถ้าหมอนต่ำไปหรือไม่หนุนหมอนกระดูกคอจะแอ่น ทำให้ปวดเมื่อยคอได้ และหมอนควรกว้างพอที่จะไม่ตกหมอน หมอนที่ถูกลักษณะ คือ หมอนที่หนุนเฉพาะต้นคอ หรือหมอนที่หนุนศีรษะแล้วหลังตื่นนอนรู้สึกสบายบริเวณคอ ไม่มีอาการปวดเมื่อยคอ
- ออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 เวลา เช้า–เย็น หรือทุกครั้งที่มีอาการปวดเมื่อยล้าคอ
การบริหารกล้ามเนื้อคอ
ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวไม่เกร็งบรรเทาอาการปวดเมื่อยและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงกระดูกคอเสื่อมช้าลงหลักการ
- เป็นการบริหารแบบเกร็งโดนยันและต้านสู้กันไว้ (ซึ่งใช้มือช่วยโดยวางมือในตำแหน่งต่างๆ ดังจะอธิบายต่อไป) ข้อสังเกตขณะยันและต้านสู้กันนั้น จะไม่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ
- ให้เกร็งโดยยันและต้านสู้กันไว้แต่ละครั้งนานนับ 1-10 หรือ 6-10 วินาทีแล้วจึงคลายพักสักครู่ และทำใหม่ในลักษณะเดียวกันทำซ้ำๆ ไม่รุนแรงและไม่หักโหมทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง
- ท่าบริหารทั้งหมด 4 ท่า ในแต่ละท่าให้เริ่มบริหารจากท่าคอปกติ คือ ศีรษะ คอ คาง และไหล่ตรง สายตามองตรงในระดับสายตา แล้วจึงค่อยเพิ่มหรือลดองศาครั้งละ 5-10 องศาจนสุดมุมของทั้ง 4 ท่า
- ไม่บริหารขณะมีอาการปวดคอรุนแรงควรพักคอนิ่ง ๆ ในท่าคอปกติและพบแพทย์เพื่อการรักษาดูแลที่ถูกต้องต่อไป
ท่าบริหาร
1. ท่าก้มคอ เริ่มต้นจากท่าคอปกติ ใช้มือข้างที่ถนัดยันต้านสู้กันบริเวณหน้าผากขณะที่ก้มคอ ดังนั้นคอจะไม่ก้มตาม และในขณะเดียวกันจะไม่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ | |
2. ท่าแหงนคอ ใช้มือสองข้างประสานกันวางที่ท้ายทอย โดยยันและต้านสู้กันไว้บริเวณท้ายทอยขณะบริหาร | |
3. ท่าตะแคงคอลงด้านขวาและด้านซ้าย ใช้มือด้านเดียวกับคอที่จะตะแคงลง ยันและต้านสู้กันไว้ที่บริเวณศีรษะเหนือหู | |
4. ท่าหันคอไปด้านขวาและซ้าย ใช้มือด้านเดียวกันกับคอที่จะหันไปยันและต้านสู้กันไว้ที่บริเวณคาง |
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ