อาการนอนกรนในเด็ก ปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อพัฒนาการได้!
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. นิโลบล แสงสว่าง
รู้หรือไม่ว่าการนอนกรนสามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เฉพาะแค่ในผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กก็เป็นได้เช่นกัน ว่าแต่ทำไมเด็กๆ จึงนอนกรนได้? แล้วหากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายหรือไม่ อย่างไร? แล้วจะรักษาได้อย่างไร? หากบ้านไหนที่ลูกๆ นอนกรนตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านข้อมูลเหล่านี้ค่ะ
สาเหตุของอาการนอนกรนในเด็ก
อาการนอนกรน เป็นได้ตั้งแต่เด็ก โดยเสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่จมูก ช่องลำคอ โคนลิ้น หรือบางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดการหย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ หากมีการนอนกรนมากจนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) อาจทำให้เด็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการ ทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ส่งให้ผลการเรียนแย่ลงหรือมีปัญหาสังคมตามมาได้ นอกจากนี้หากเป็นรุนแรงมากอาจเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้อีกด้วย
อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และควรไปพบแพทย์
- นอนกรนอ้าปาก หายใจเสียงดัง เป็นประจำ
- นอนกระสับกระส่าย ดิ้น หลับไม่สนิท สลับกับหายใจดังเฮือกๆ หรือต้องลุกนั่งเพราะหายใจไม่ออก
- หยุดหายใจเป็นพักๆ 5-10 วินาที แล้วตื่นหรือพลิกตัวเปลี่ยนท่า
- คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อยๆ
- ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ
- พฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง
- เติบโตช้ากว่าวัย
สาเหตุของอาการนอนกรนในเด็ก
- มีต่อมทอนซิลโต และหรือต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองอยู่ด้านหลังของโพรงจมูกโต เป็นสาเหตุที่พบบ่อยและสำคัญที่สุดในเด็ก หากมีการอักเสบ เด็กจะมีอาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง ชอบสูดน้ำมูกลงคอบ่อยๆ หรือมีเสมหะครืดคราดในคอ เจ็บคอบ่อย อาจมีพูดไม่ชัด เสียงอู้อี้
- ภาวะจมูกบวมอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ
- ภาวะอ้วน เด็กจะมีผนังคอหนาขึ้น ทำให้ช่องคอแคบ
- โครงหน้าผิดปกติ เช่น หน้าแคบ คางสั้นหรือเล็ก
- โรคทางพันธุกรรม หรือโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
แพทย์ต้องอาศัยทั้งประวัติการตรวจร่างกาย อาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น การ X-ray บริเวณศีรษะด้านข้างเพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจและขนาดต่อมอะดีนอยด์ และหากทำได้ อาจตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนใน เลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ
การรักษาอาการนอนกรน
- การดูแลปฏิบัติเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้พอเพียง การเข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ ในรายที่อ้วนต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
- การรักษาด้วยยา เช่น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือยารักษาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ยาละลายเสมหะ น้ำเกลือล้างจมูก หรือยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
- การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก เมื่อมีข้อบ่งชี้
- การรักษาอื่นๆ เช่น การรักษาโรคร่วม การใช้เครื่อง CPAP ตลอดจนการจัดฟัน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกกรณีรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
ดังนั้น เมื่อบุตรหลานมีความผิดปกติดังข้างต้นที่กล่าวมา ควรพามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน และช่วยคลายความกังวลของผู้ปกครองได้
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก