เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร

เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์

ในระหว่างตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ คือ การดูแลตัวเองให้มีทั้งสุขภาพร่างกายแข็งแรง สภาพจิตใจที่สมบูรณ์ เพื่อที่จะส่งผลไปยังทารกในครรภ์ให้แข็งแรงและสุขภาพดี ดังนั้น การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ เพื่อให้ทารกคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง เพียงแค่คุณแม่ปฏิบัติตามเทคนิคดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์นี้ ก็จะทำให้มั่นใจได้ว่าทารกในครรภ์จะมีสุขภาพดีตามไปด้วยแน่นอน


1. ฝากครรภ์ทันที

เมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ทันที เพื่อรับการตรวจสุขภาพของตัวเอง และทารกในครรภ์ว่ามีความปกติดีหรือไม่ พร้อมทั้งยังได้รับแนะนำวิธีดูแลครรภ์ รับวิตามินบำรุงครรภ์ และทราบถึงความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่อาจตามมา หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้ปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษา รวมทั้งวางแผนการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ถือว่าเป็นประโยชน์กับคุณแม่ตั้งครรภ์มากเลยทีเดียว


2. สุขภาพดีด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์

โดยปกติแล้ว พลังงานที่ผู้หญิงทั่วไปควรได้รับต่อวันจะอยู่ที่ 1,750 กิโลแคลอรี แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับสารอาหารครบหมู่ และพลังงานเพียงพอเพื่อให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักที่พอดี มีการเจริยเติบโตทั้งทางร่างกายและสมองอย่างสมบูรณ์โดย

  • ช่วงตั้งครรภ์ 1-3 เดือนแรก ควรได้รับพลังงาน 2,050 กิโลแคลอรีต่อวัน (ไม่ต้องเพิ่ม)
  • ช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 4-6 วรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 350 กิโลแคลอรี
  • ช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 7-9 ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 470 กิโลแคลอรี

สำหรับสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ ได้แก่

  • โปรตีน มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ของทารกในครรภ์ ช่วยให้เจริญเติบโต มาจาก โปรตีนจากสัตว์ ได้แก่ ไข่ นม เนยแข็ง เนื้อสัตว์ และปลา
  • คาร์โบไฮเดรต อาหารจำพวกแป้ง แต่ควรเลือกบริโภคข้าวไม่ขัดสีแทนข้าวขาว ขนมปังโฮลวีท ไม่ควรรับประทานน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และหลีกเลี่ยงอาหารหวาน
  • ใยอาหาร จากผักและผลไม้ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ทั้งยังได้วิตามินพร้อมด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงครรภ์ และสร้างกระบวนการเจริญเติบโตให้กับทารกในครรภ์ เช่น มะละกอสุก ส้ม กล้วย มะพร้าว ฝรั่ง มะนาว ขิง เป็นต้น
  • แคลเซียม ช่วยในการเสริมสร้างกระดูก และรักษาความหนาแน่นของกระดูก ใน 1 วัน ต้องได้รับแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000-1,300 มิลลิกรัม โดยอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งฝอย ธัญพืช เป็นต้น
  • ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่สำคัญช่วยพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 250 ไมโครกรัมต่อวัน จากอาหารทะเล หรืออาหารที่ปรุงรสด้วยผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน เช่น น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง เป็นต้น
  • ธาตุเหล็ก เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง และเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ไข่แดง เนื้อสัตว์สีแดง เครื่องในสัตว์ ผักสีเขียวเข้ม เลือด งา ถั่วแดง เป็นต้น
  • กรดโฟลิก ป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทและสมองของทารกในครรภ์

3. คุมน้ำหนักให้พอดี

ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักตามดัชนีมวลกาย ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (BMI)
คำนวณโดยน้ำหนัก (ก.ก.) / ความสูง (เมตร2)

น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นทั้งหมด
(กิโลกรัม)

BMI < 18.5 (น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์) 12.5 – 18.0
BMI 18.5 – 24.9 (น้ำหนักตัวปกติ) 11.5 – 16.0
BMI 25.0 – 29.9 (น้ำหนักตัวเกิน) 7.0 – 11.5
BMI ≥ 30 (โรคอ้วน) 5.0 – 9.0

ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานแบบตามใจปาก หรือรับประทานเป็น 2 เท่าเผื่อทารกในครรภ์ แต่ควรเลือกอาหาร พวกโปรตีน และรับประทานอาหารจำพวกแป้งและไขมันอย่างพอดี เพราะถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักมากเกินไป อาจเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูงได้


4. ใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ

ได้แก่ การรักษาความสะอาดร่างกาย ควรอาบน้ำให้ร่างกายสะอาดสดชื่น แต่ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องดูแลสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากช่องปากไม่สะอาดอาจติดเชื้อและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ด้านเสื้อผ้าการแต่งกายต้องปรับให้เหมาะสม ไม่แน่น หรืออึดอัดเกินไป อีกทั้งรองเท้าควรเลี่ยงรองเท้าส้นสูงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือรองเท้าที่แน่นเกินไปจะทำให้เท้าและขาบวมในไตรมาสที่สาม และที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับให้ได้คืนละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 14 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และไตรมาสที่ 3 ถ้าใกล้คลอด


5. ออกกำลังกายอย่างพอดี

การออกกำลังกายในคุณแม่ตั้งครรภ์จะช่วยให้ปอด หัวใจ กระดูก และกล้ามเนื้อ ของคุณแม่แข็งแรง ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนมากขึ้น การออกกำลังกายนั้นควรทำอย่างพอดีและถูกวิธี ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหมหรือถี่จนเกินไป ควรอยู่ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่เกิน 30 นาทีต่อวัน และควรเริ่มหลังตั้งครรภ์ได้ 4 เดือนหรือไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งการออกกำลังกายตามไตรมาสได้ดังนี้ ไตรมาสที่ 2 แนะนำการออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อเตรียมตัวรับกับขนาดท้องที่โตขึ้น และน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ไตรมาสที่ 3 แนะนำให้ออกกำลังกายเฉพาะส่วน สำหรับการออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ การเดิน การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิค การปั่นจักรยานอยู่กับที่ โยคะ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และภาวะตั้งครรภ์เสี่ยงก่อนการออกกำลังกาย ไม่ออกกำลังกายประเภทใช้แรงเยอะ หรือเกร็งหน้าท้อง


6. ดูแลจิตใจให้ผ่องใส ไม่วิตกกังวล

ความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเครียด สารเคมีในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่ โดยทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หลอดเลือดตีบ ปวดหัวแบบเฉียบพลัน นอนไม่หลับ คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ความดันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ มือสั่น ชา ภูมิต้านทานลดลง เป็นต้น และกระทบต่อทารกในครรภ์ อาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกเกิด มีความเสี่ยงเป็นออทิสติก หรือบกพร่องทางภาษา รวมทั้งมีความเสี่ยงในพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรอารมณ์ดีเข้าไว้ เพื่อให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี

คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรที่จะเข้มงวดกับการดูแลตัวเอง เพื่อให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี แข็งแรงสมบูรณ์ และไม่มีอาการเสี่ยงใดๆ ทั้งนี้เมื่อคุณแม่ทราบเทคนิคในการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ปกป้องสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย