เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหัวใจที่เด็กก็เป็นได้

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : นพ. สรนนท์ ไตรติลานันท์

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหัวใจที่เด็กก็เป็นได้

เยื่อหุ้มหัวใจ เป็นส่วนที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ แต่ถ้าเมื่อไหร่พบว่าเกิดโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแล้วก็อาจจะสร้างความรำคาญและความทรมานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว รวมทั้งโรคนี้ยังสามารถเกิดกับเด็กได้ ซึ่งหากพบว่าเด็กมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน หรือเจ็บแน่นหน้าอกมากขึ้นเวลานอน เวลาตะแคงหรือเวลาโน้มตัวไปข้างหน้า นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจมีอาการดีขึ้นได้เอง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจได้รับยาหรือรักษาด้วยการผ่าตัด หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้


เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แล้วทำให้เกิดน้ำหนอง หรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลให้หัวใจขยายตัวและบีบตัวไม่ดี โดยเยื่อหุ้มหัวใจนั้นมีลักษณะบางๆ ห่อหุ้มหัวใจ แบ่งเป็นสองชั้น โดยชั้นในจะติดกับหัวใจโดยตรง ส่วนชั้นนอกจะติดกับปอดและอวัยวะอื่นๆ โดยระหว่างเยื่อหุ้มหัวใจสองชั้นนี้จะมีน้ำหล่อลื่นที่ทำหน้าที่ป้องกันหัวใจของเราไม่ให้เสียดสีหรือกระทบกระเทือนกับอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับหัวใจในขณะที่หัวใจบีบตัวเข้าออก

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบสามารถจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  1. โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้แบบรวดเร็วและทันที มีอาการรุนแรง แต่สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 3 เดือน
  2. โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ เป็นอาการต่อเนื่องของผู้ป่วยที่เป็นโรคโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่กำลังจะรักษาหายแล้ว แต่กลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย
  3. โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบเรื้อรัง เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาจจะเกิดจากการดื้อยาหรือการรักษาที่ไม่ครบถ้วน

อาการแสดงของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

เมื่อมีภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยทั่วไปจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บหน้าอก มีลักษณะเจ็บแปล๊บหรือแน่นรุนแรงบริเวณกลางหน้าอกหรือด้านซ้าย ร้าวไปคอ แขนหัวไหล่ หรือบริเวณสะบักข้างซ้าย จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกมากขึ้นเวลานอน แต่เมื่อเวลาโน้มตัวไปข้างหน้าอาการเจ็บจะลดลง
  • มีไข้ อ่อนแรง หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว ไอ ใจสั่น
  • กรณีที่เป็นการอักเสบเรื้อรังอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ในขั้นรุนแรงอาจมีอาการท้องบวม ขาบวม และภาวะความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเกิดจากมีภาวะหัวใจวายที่เกิดขึ้นตามมา

สาเหตุการเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

สาเหตุการเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ยังไม่มีการค้นพบที่แน่ชัด แต่ก็ยังมีโรค เชื้อไวรัส และภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ เช่น

  • การอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
  • การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หัวใจขาดเลือด การบาดเจ็บ การปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ใกล้หัวใจ มะเร็งบริเวณทรวงอก การฉายรังสีบริเวณทรวงอก
  • การอักเสบจากภาวะตอบสนองของร่างกายหรือโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ไข้รูมาติก รูมาตอยด์

การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

เบื้องต้นจะมีการซักประวัติ สอบถามอาการ เช่น มีไข้หวัดหรือติดเชื้อทางเดินหายใจ มีหัวใจวายหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณทรวงอก เป็นต้น การตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยทำการฟังเสียงหัวใจซึ่งเกิดจากการเสียดสีกันของเยื่อหุ้มหัวใจทั้งสองชั้น และสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหัวใจ ในกรณีที่อาการเจ็บหน้าอกชี้นำไปทางด้านภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือโรคหัวใจ จะมีการตรวจหัวใจเพิ่มเติม ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลการตรวจจะประเมินการอักเสบจากลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้
  • การเอกซเรย์ทรวงอก ภาพเอกซเรย์จะเห็นเงาของหัวใจและหลอดเลือดที่โตขึ้นหากมีภาวะที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
  • อัลตราซาวด์หัวใจ ช่วยให้เห็นน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และการทำ MRI ช่วยให้เห็นรอยโรคได้อย่างละเอียดชัดเจน
  • การตรวจเลือด เพื่อแยกสาเหตุการเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบว่าเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลันหรือการอักเสบติดเชื้อ

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบรักษาได้อย่างไร

การรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก การอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ และใช้วิธีการรักษาที่สาเหตุได้แก่

  • การรักษาโดยใช้ยา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บและลดการอักเสบ หากการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะ
  • การเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ในกรณีมีภาวะบีบรัดหัวใจ คือ มีของเหลวในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ต้องได้รับการรักษาโดยการเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจออก โดยใช้เข็มและท่อขนาดเล็กระบายน้ำออกมา
  • การผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจออก ในกรณีมีการอักเสบเรื้อรังจนทำให้เยื่อหุ้มหัวใจมีการหนาตัวเป็นพังผืดและมีหินปูนเกาะ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจโดยเฉพาะช่วงที่หัวใจคลายตัวเพื่อรับเลือดเข้าหัวใจ การผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจอาจจะทำให้มีการคลายตัวของหัวใจดีขึ้น
ทั้งนี้ ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์ เพราะโรคนี้การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและไม่ให้มีการอักเสบเรื้อรัง




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย