เรื่องเล็ก ที่ไม่เล็ก กับโรคฟันผุ

ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม

บทความโดย : ทพ. วุฒิพงษ์ เหล่าอมต

เรื่องเล็ก ที่ไม่เล็ก กับโรคฟันผุ

ฟันผุ คือ การเสื่อมของฟัน เริ่มตั้งแต่ผิวเคลือบฟัน ไปที่เนื้อฟัน อาจลุกลามไปถึงรากฟัน และสุดท้ายอาจต้องสูญเสียฟัน โดยต้องถอนออกไปหากผุมากเกินกว่าจะรักษาฟันได้ โดยสาเหตุของฟันผุ อธิบายให้เข้าใจง่าย คือเกิดจากการรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียที่เกาะบนผิวฟัน ทำให้เกิดเป็นกรดทำลายผิวเคลือบฟัน ซึ่งหากทำความสะอาดไม่ดีพอ ปล่อยให้กรดทำลายฟันจนก่อให้เกิดเป็นรู ฟันซี่นั้นจึงผุ


ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคฟันผุ

ฟันผุพบได้กับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก จนวัยผู้สูงอายุ หากมีปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ ได้แก่

  • ผิวของฟันเป็นร่องหลุม อาหารติดค้างง่าย
  • ฟันซ้อนเก ทำให้ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง
  • มีเชื้อแบคทีเรีย หรือ คราบหินปูนสะสมมาก
  • ทานอาหารที่เป็น แป้ง และ น้ำตาลเป็นประจำ และทำความสะอาดฟันได้ไม่ดี
  • แปรงฟันไม่สะอาด หรือ ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ถูกสุขลักษณะ
  • มีโรคประจำตัวที่ทำให้ช่องปากแห้ง มีน้ำลายออกน้อย เช่น มะเร็งช่องปาก โรคเบาหวาน โรคเบาจืด หรือ มีอาการปากแห้ง
  • การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้น้ำลายลดลง เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้โรคซึมเศร้า

> กลับสารบัญ


ตำแหน่งของฟันส่วนใดที่ผุง่ายที่สุด

  • บริเวณพื้นผิวเคลือบฟันด้านบดเคี้ยว เช่น ฟันกรามที่มีร่องลึก ทำให้คราบแบคทีเรียที่ติดตามร่องฟัน และทำความสะอาดได้ยาก
  • ระหว่างซอกฟัน เพราะเป็นบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึงและการแปรงฟันอย่างเดียวไม่เพียงพอ
  • คอฟัน รากฟัน ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเหงือกร่นหรือการสูญเสียของกระดูกฟันด้วยโรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์

> กลับสารบัญ


ระดับความรุนแรงของโรคฟันผุ

  • ระยะที่ 1 : การเกิดคราบขาว ซึ่งเกิดจากการทำลายผิวเคลือบฟันจึงเห็นเป็นสีขาวขุ่นที่ผิวฟัน ระยะนี้สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้
  • ระยะที่ 2 : การผุที่ผิวเคลือบฟัน เกิดจากกรดทำลายลึกเข้าไปที่ผิวเคลือบฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและรับการวางแผนการรักษา ที่เหมาะสม
  • ระยะที่ 3 : การผุที่เนื้อฟัน เป็นการผุจากผิวเคลือบฟันลามลึกเข้าไปถึงเนื้อฟัน เป็นระยะที่ขยายการผุไปยังฟันซี่อื่นๆ ได้
  • ระยะที่ 4 : การผุถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเส้นประสาท ระยะนี้จะมีอาการปวดฟันมาก อาจมีการติดเชื้อ จนเกิดฝีหนอง ที่ปลายรากฟันได้

> กลับสารบัญ


การรักษาฟันผุ

การรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับว่า ฟันผุอยู่ระยะไหน โดยการรักษามีดังนี้

  • เบื้องต้นหากฟันผุไม่มาก จะรักษาโดยการกำจัดบริเวณฟันที่ผุออก แล้วจึงใช้วัสดุอุดฟัน อุดรูฟันที่ผุ
  • หากบริเวณที่ผุมีมาก จนไม่สามารถ รักษาด้วยการอุดฟันได้ ทันตแพทย์จะทำการสกัดบริเวณส่วนที่ผุออก แล้วทำการครอบฟัน
  • ถ้าฟันผุใหญ่มาก ลึก และมีการอักเสบของโพรงประสาทฟันร่วมด้วย จะได้รับการรักษาคลองรากฟันก่อนตามด้วยการอุดฟัน และอาจทำครอบฟันตามลำดับ
  • หากฟันผุลุกลามมากจนไม่สามารถรักษาได้ ก็จำเป็นต้องถอนฟันซี่ที่ผุนั้นทิ้ง แล้วพิจารณาการใส่ฟันปลอมแบบต่างๆทดแทน

> กลับสารบัญ


สามารถป้องกันฟันผุได้อย่างไร

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ หรือมีคุณสมบัติช่วยลดการก่อตัวของคราบแบคทีเรียได้
  • การใช้ไหมขัดฟันเพื่อขจัดเศษอาหาร สาะเหตุของคราบแบคทีเรียในส่วนที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์
  • งดรับประทานอาหารจุกจิกระหว่างมื้อ แต่ให้รับประทานขนมหรือสิ่งที่ชอบในมื้ออาหารใหญ่ และหลังจากรับประทานอาหารหวานหรือเปรี้ยวไม่ควรแปรงฟันทันที แต่ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าเพื่อให้สภาพช่องปากเป็นกลางหรือรอทิ้งไว้สัก 20 นาทีแล้วจึงแปรงฟัน
  • เข้าพบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน หรือ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์

> กลับสารบัญ


ฟันผุไม่ควรละเลยและปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการปวด หากสงสัยว่าฟันเริ่มผุ หรือเริ่มมีอาการ แนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์ เพื่อปรึกษาและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป สนใจสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ข้างล่างนี้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย