‘เลือดออกตามไรฟัน’ โรคสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม
สุขภาพทางช่องปาก ถือเป็นปราการด่านสำคัญในการเข้าหา เจรจากับผู้คน ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภาพของเราด้วย หากดูแลไม่ดีอาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน การดำเนินชีวิตและสุขภาพได้ โดยอาการเลือดออกตามไรฟันอาจเกิดจากการขาดวิตามินซี หรือเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเหงือกอักเสบและโรคทางช่องปากได้ ดังนั้นหากใครที่กำลังมีปัญหาเลือดออกตามไรฟัน อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร มาดูสาเหตุและการรักษาโรคนี้กันดีกว่า
โรคเลือดออกตามไรฟัน หรือ โรคลักปิดลักเปิด (Scurvy)
โรคเลือดออกตามไรฟัน หรือ โรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) เป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามิน C ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์คอลลาเจนในร่างกายของเรา โรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นแค่อาการเริ่มต้นของโรคเหงือกอักเสบและโรคทางช่องปาก ไม่ใช่แค่เลือดออกเท่านั้น ยังมีอาการที่ตามมาของโรคเลือดออกตามไรฟัน คือ
- เหงือกบวม แดง รู้สึกเจ็บ เหงือกร่นและนุ่ม ทำให้มองดูห่างจากฟัน
- ฟันจะดูยาวขึ้น รู้สึกฟันโยกเมื่อรับประทานอาหาร ถ้าไม่รีบรักษาฟันอาจจะหลุดได้
- มีกลิ่นปาก เพราะเศษอาหารสะสมบริเวณตามร่องฟัน และบาดแผลบริเวณเหงือก เป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรีย
- ก่อให้เกิดโรคเหงือกและฟันต่างๆ มากมายตามมา
วิธีดูอาการเลือดออกตามไรฟัน
- แปรงฟันแล้วมีเลือดติดอยู่บริเวณของแปรง
- บ้วนปากแล้วมีเลือดออกมา
- เหงือกบวมแดงเป็นรอยหยัก (เหงือกคนเราปกติรูปร่างเรียบ)
สาเหตุของเลือดออกตามไรฟัน
- ขาดวิตามิน C
- ดูแลช่องปากไม่ทั่วถึงและไม่ถูกวิธี
- ขนแปรงสีฟันแข็งเกินไป หรือใช้นานเกินไปจนเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย
วิธีการรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ควรกินผลไม้ที่ให้วิตามิน C สูงหรือรับประทานยา วิตามิน C บำรุงร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดีกับร่างกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาด เข้าห้องน้ำบ่อยๆ เพื่อให้วิตามิน C ระบายออกมา เพราะวิตามิน C ไม่สะสมในร่างกาย
- ควรแปรงฟันให้ทั่วทั้งช่องปากและซอกฟัน ใช้ไหมขัดฟันบริเวณที่ขนแปรงทำความสะอาดไม่ถึง และบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก เพื่อทำความสะอาดให้ทั่วช่องปาก ถ้ามีฟันผุหรือหินปูน ควรรักษาโดยเร็วที่สุด
- ควรใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงอ่อนนุ่มและเปลี่ยนแปรงทุกๆ 2-4 เดือน
- เมื่อมีอาการของเลือดออกตามไรฟัน หรือโรคทางช่องปากอื่นๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์และรับการรักษาทันที
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปรับพฤติกรรมการแปรงฟันหรือทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วเลือดยังไม่หยุดหรือมีเลือดออกเป็นประจำ หรือโรคทางช่องปากอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการวางแผนรักษาที่เหมาะสม
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทันตกรรม