เวชศาสตร์การกีฬา ศาสตร์ที่คนรักการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาควรรู้จัก

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. ประกาศิต ชนะสิทธิ์

เวชศาสตร์การกีฬา ศาสตร์ที่คนรักการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาควรรู้จัก

การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรักษาอาการบาดเจ็บเหล่านั้นเองได้เบื้องต้น แล้วอาการดีขึ้น อันนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารักษาเองเบื้องต้นแล้ว ลองพักการใช้งานแล้วยังมีปัญหาอยู่ ยังมีอาการเจ็บอยู่ หรือยังไม่สามารถออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬานั้นๆ ได้เต็มที่ ให้รีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งจะมีความเข้าใจในความต้องการของนักกีฬาและคนที่ชอบออกกำลังกาย ด้วยวิธีการรักษาที่ถูกต้อง และรวดเร็ว แล้วเวชศาสตร์การกีฬาเกี่ยวข้องอะไรกับนักกีฬา การออกกำลังกาย ไปหาคำตอบกัน


เวชศาสตร์การกีฬาคืออะไร

ในปัจจุบันเวชศาสตร์การกีฬาจะมีความเกี่ยวข้องกับการเล่นกีฬามากขึ้น เนื่องจากทุกครั้งที่มีการเล่นกีฬา จะต้องมีการวัดผลว่านักกีฬาสามารถเล่นกีฬาได้มีประสิทธิภาพดีหรือเปล่า ซึ่งการใช้เวชศาสตร์การกีฬาเข้ามาวัดผล จะทำให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านกีฬามากขึ้น และในส่วนที่เรียกว่า เวชศาสตร์ เพราะเกี่ยวข้องกับการรักษา การป้องกัน การฟื้นฟูของกลุ่มนักกีฬา

ดังนั้น เวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) คือ ศาสตร์ที่นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดได้ในนักกีฬาอาชีพ สมัครเล่น ตลอดจนผู้ที่ออกกำลังกาย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสมรรถภาพของนักกีฬา ในการรักษากรณีที่นักกีฬาได้รับบาดเจ็บ และสุดท้ายคือการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬา ให้สามารถกลับมาเล่นได้ตามปกติ หรือแม้กระทั้งเล่นได้ดีกว่าปกติ

> กลับสารบัญ


ความสำคัญของเวชศาสตร์การกีฬา

เวชศาสตร์การกีฬา มีความสำคัญในวงการกีฬา และวงการการออกกำลังกายมากขึ้น โดยมีประโยชน์ดังนี้

  1. ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและสมรรถภาพของนักกีฬา ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพของผู้ออกกำลังกาย เช่น วางแผนด้านโภชนาการเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอต่อการเล่นกีฬาในแต่ละชนิด การจัดโปรแกรมการฝึกที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล แต่ละชนิดกีฬา เป็นต้น
  2. ช่วยป้องกันอันตรายการบาดเจ็บหรือความเจ็บปวด ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เช่น การตรวจร่างกายก่อนการเล่นกีฬา การให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
  3. ช่วยรักษาหรือแก้ไขการบาดเจ็บซึ่งเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเห็นผลการรักษาได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ดังเดิม
  4. ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพในการที่จะให้ผู้บาดเจ็บสามารถกลับมาออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้อย่างเดิม หรือดีกว่าเดิม และป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บเพิ่มจากเดิม

> กลับสารบัญ





เวชศาสตร์การกีฬากับการรักษาการบาดเจ็บ

การบาดเจ็บจากการกีฬา หมายถึง การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นกีฬา อาจเกิดจาก อุบัติเหตุ การฝึกที่ผิด การขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสม และขาดการอุ่นเครื่องหรือยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ช่วงหลักๆ คือ เกิดจากการฝึกซ้อมและช่วงที่มีการลงแข่งขันจริง สำหรับความบ่อยครั้งของการบาดเจ็บจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการฝึกซ้อมของนักกีฬาที่ใช้เวลาในการฝึกซ้อม

ส่วนการบาดเจ็บทางด้านกีฬาโดยปกติส่วนใหญ่จะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน ฟกช้ำ มีบาดแผลที่เกิดจากการเล่นกีฬาหรือการฝึกซ้อม และการบาดเจ็บเรื้อรังส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้งานเกินกำลัง หรือเรียกอีกอย่างว่าภาวะกลุ่มการใช้งานเกินกำลัง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยกับนักกีฬา

> กลับสารบัญ


การรักษาของภาวะบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย

  1. การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการพักการใช้งาน เป็นการให้เวลาโครงสร้างในร่างกาย กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นสมานตัวเอง
  2. การบาดเจ็บแบบเรื้อรัง ต้องดูศักยภาพของนักกีฬาหรือผู้เล่นมีมากน้อยแค่ไหน และถ้ารู้ว่ามีการใช้งานเกินกำลังก็ต้องพัฒนากล้ามเนื้อ พัฒนาโครงสร้างของร่างกายให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในกลุ่มนี้อาจจะต้องใช้การฝึกซ้อมกล้ามเนื้อและการเข้ายิมเพิ่มเติม

> กลับสารบัญ


วิธีการป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

สาเหตุการบาดเจ็บส่วนใหญ่มาจากกลุ่มกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมก่อนการเล่นกีฬาและหลังจากการเล่นกีฬา ดังนี้

  • การวอร์มอัพ (Warm up) เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาทุกประเภท เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อ โดยใช้เวลาวอร์มอัพ ประมาณ 15 – 20 นาที อาจเป็นการวิ่งเบา ๆ เพื่อให้เหงื่อซึม เพราะเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น 1 องศา จะทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึงจะช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บในเวลาที่เราเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายได้
  • การทำสเตรทชิ่ง (Stretching) เป็นการเหยียด ยืด กล้ามเนื้อ ก่อนการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดอาการบาดเจ็บ
  • การคูลดาวน์ (Cool Down) เป็นการยืดเหยียดเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมหลังจากที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้งานไปแล้วอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้น หรืออาจจะเกิดการยืดหยุ่นที่มากเกินไป การคูลดาวน์ช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บในระยะยาวได้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่นักกีฬาสมัครเล่นหรือผู้เล่นส่วนใหญ่อาจจะละเลยกันไป ซึ่งในส่วนนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

> กลับสารบัญ


ปัจจุบันเวชศาสตร์การกีฬา หรือ วิทยาศาสตร์การกีฬา มีส่วนสำคัญมากในการที่จะได้เรียนรู้การป้องกันสำหรับการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพเมื่อเรามีการชั่ง ตวง วัดในการเล่นกีฬา จะรู้ว่าปัจจุบันมีข้อด้อยในด้านไหนที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม หรือมีข้อเด่นตรงไหนที่สามารถทำได้อยู่แล้วและพัฒนาขึ้นไปได้อีก ทั้งยังสามารถทำให้รักษาได้ทันท่วงที

นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์

นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์
ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ / เวชศาสตร์การกีฬา
ศูนย์กระดูกและข้อ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย