โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก เรื่องไม่เล็กที่ต้องป้องกัน
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : นพ. ศราวุธ ตั้งมานะกุล
พ่อแม่ที่มีลูกเล็กหลายครอบครัวมักเจอกับปัญหาลูกร้องกวนงอแงผิดปกติโดยหาสาเหตุไม่ได้ และยังไม่เคยรู้เลยว่าสาเหตุหนึ่งที่ลูกกำลังเผชิญอยู่ คือ โรคหูชั้นกลางอักเสบ ที่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้แก้วหูทะลุ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเกิดฝีในสมองได้
รู้จักโรคหูชั้นกลางอักเสบ
โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) คือ โรคที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและชั้นใน เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากท่อยูสเตเซียน (Eustachian tube) ที่เป็นท่อเล็กๆ เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและลำคอของเด็กสั้นกว่า และอยู่ในแนวระนาบมากกว่า ทำให้เชื้อโรคจากโพรงจมูกและลำคอเข้าสู่หูชั้นกลางของเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่
สาเหตุของการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ
สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอ ที่พบได้ในลำคอหรือโพรงจมูกของเด็กๆ มักจะเกิดตามหลังจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เชื้อโรคที่อยู่บริเวณโพรงจมูก กระจายเข้าหูชั้นกลางและเกิดการอักเสบได้ ซึ่งพบว่าประมาณร้อยละ 80 ของเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เคยป่วยเป็นหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง
อาการที่เกิดขึ้น
- ปวดหู ในเด็กเล็กที่พูดยังไม่ได้ อาจ ดึงหู ทุบหู ร้องกวนงอแงผิดปกติ ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน หูอื้อ มีหนองไหลออกจากหู
- หากรักษาช้า อาจทำให้แก้วหูทะลุ สูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวร อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และฝีในสมอง
การป้องกัน
- ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้ 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับนมผสม
- ไม่ควรนอนดูดนม เพราะทำให้น้ำนมไหลย้อนเข้าหูชั้นกลาง ควรอุ้มทารกเอียง 45 องศา ขณะให้นม
- เริ่มฝึกให้ลูกเลิกขวดนมตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน อย่างช้าไม่ควรเกินอายุ 18 เดือน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กโดยเฉพาะต่ำกว่า 2 ขวบไปสถานที่คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด เพราะเสี่ยงต่อการรับเชื้อ
- การฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบได้
หูชั้นกลางอักเสบ รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่พบการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น การป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบจากทั้งสองเชื้อ คือ นิวโมคอคคัส และ เอ็นทีเอชไอ
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก