ไส้เลื่อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นโรคถุงลมโป่งพอง อ้วน ตั้งครรภ์ มีการผ่าตัดทางหน้าท้อง จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นไส้เลื่อนสูงกว่าคนปกติ หากสังเกตพบว่า มีเนื้อนูน หรือโปนขึ้นมา บริเวณขาหนีบ ท้องน้อย จำเป็นต้องพบแพทย์ทันที แต่อย่ากังวล เพราะไส้เลื่อนสามารถป้องกัน และรักษาได้ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ที่พักพื้นน้อย สามารถฟื้นตัวได้ไว กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง
สารบัญ
โรคไส้เลื่อน คืออะไร?
ไส้เลื่อน (hernia) คือ ภาวะที่มีลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ อวัยวะภายในหรือเนื้อเยื่อบางส่วนเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิมผ่านช่องทางที่ปกติหรือผนังรายรอบที่มีความผิดปกติ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง มีการเสื่อมลงตามอายุของกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดช่องท้องได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การยกของหนักบ่อยๆ ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง ก็เป็นอีกหนึ่งหนึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน
เมื่อเกิดภาวะไส้เลื่อน จะเลื่อนไปยังตำแหน่งต่างๆ ได้แก่
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ เป็นบริเวณที่พบบ่อยที่สุด และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาจจะเลื่อนไปบริเวณถุงอัณฑะหรือบริเวณต้นขา
- ไส้เลื่อนที่สะดือ มักพบตั้งแต่แรกเกิด หากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ต่อชั้นของผิวหนังปิดไม่สนิทแล้ว บางส่วนของลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งได้
- ไส้เลื่อนในช่องเชิงกราน เกิดจากลำไส้มีการเคลื่อนตัวเข้ารูในกระดูกเชิงกราน พบมากในเพศหญิง
- ไส้เลื่อนที่รอยแผลผ่าตัด ในกรณีนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องเกิดความอ่อนแอจนเคลื่อนตัวได้
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ โอกาสในการเกิดไส้เลื่อนในบริเวณนี้จะน้อยกว่าบริเวณขาหนีบ เกิดอาการปวดบริเวณต้นขา และอาจมีอาการปวดที่ขาหนีบร่วมด้วย
เมื่อเป็นไส้เลื่อนจะมีอาการอย่างไร?
อาการหลักๆ ของโรคไส้เลื่อนจะรู้สึกได้ถึงก้อนที่ตุงอยู่บริเวณที่มีไส้เลื่อนออกมา เช่น บริเวณผนังหน้าท้อง หรือบริเวณขาหนีบ และมีอาการปวดเวลาต้องก้มตัว ไอ ยกของ บางรายอาจมีรู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน ท้องผูก อาเจียน หากมีอาการปวดเป็นแบบเฉียบพลัน และรุนแรง แสดงว่าลำไส้ขาดเลือด ต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉินทันที การขาดเลือดทำให้ลำไส้เกิดเนื้อตายและเน่า และเกิดอาการติดเชื้อที่อันตรายได้
ตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน
เบื้องต้นเริ่มจากการสังเกตตัวเองก่อน การพบความผิดปกติภายนอกของร่างกาย โดยมีส่วนใดในบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบมีลักษณะนูนเป็นก้อนออกมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด
ซึ่งแพทย์ วินิจฉัยโรคไส้เลื่อน จากอาการเป็นหลักพร้อมกับการตรวจร่างกายเพื่อดูก้อนที่นูนขึ้นมาว่าเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ โดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการของไส้เลื่อนได้ชัดเจนมากขึ้น หากไม่สามารถตรวจดูได้จากความผิดปกติภายนอกร่างกาย แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
โรคไส้เลื่อน เป็นได้ ก็รักษาได้
ไส้เลื่อน รักษาได้โดยการผ่าตัดเพื่อนำไส้เลื่อนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะไส้เลื่อนชนิดติดค้างควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แพทย์จะต้องดันไส้เลื่อนกลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเดิมก่อนแล้วผ่าตัด หรือนัดเข้ามาผ่าตัดเพื่อปิดช่องทางไม่ให้เกิดไส้เลื่อนซ้ำอีก และปัจจุบันสามารถทำการตัดผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ ซึ่งเป็นการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ โดยการเจาะรูเล็กๆ ผ่านทางหน้าท้อง ให้ผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก สามารถฟื้นตัวได้ไว เสียเลือดน้อย ระยะเวลาพักพื้นไม่นาน ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว
ไม่อยากเป็นโรคไส้เลื่อนควรทำตามนี้
ไส้เลื่อนที่ไม่ได้มีสาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายแต่กำเนิด การป้องกันโรคไส้เลื่อน ทำได้ด้วยการควบคุมไม่ให้เกิดแรงดันภายในช่องท้องมากผิดปกติ ได้แก่
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพื่อลดอาการท้องผูก
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดการไอ และควรพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือยกของให้ถูกวิธี
โรคไส้เลื่อนนั้นสามารถเกิดได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นอาการของโรคไส้เลื่อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ให้กลับมาดำเนินชีวิต
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม