ไขมันพอกตับ กลุ่มโรคกินดีอยู่ดีที่สร้างปัญหา
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือ ภาวะที่มีไขมันเข้าไปสะสมที่เนื้อตับมากกว่า 5-10% และมักจะเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ปกติไขมันที่ร่างกายได้รับจะถูกเผาผลาญที่ตับและเนื้อเยื่อต่างๆ แต่เมื่อร่างกายได้รับเกินความต้องการ ไขมันส่วนนั้นจะถูกสะสมในรูปแบบเนื้อเยื่อไขมัน แล้วค่อยๆสะสมที่ตับ จนมากเกินกว่าปกติ และส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ โดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีอาการ พอนานวันขึ้น จะพัฒนาจนนำมาสู่การอักเสบภายในเนื้อตับอย่างเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืด เกิดภาวะตับแข็ง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุณอาจไม่รู้ตัวและอาจนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆจนถึงแก่ชีวิตได้
สารบัญ
- ไขมันพอกตับมี 4 ระยะ
- เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีไขมันพอกตับ?
- การตรวจวินิจฉัยไขมันพอกตับ
- การตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan คืออะไร?
- การเตรียมตัวก่อนตรวจ Fibroscan
- ข้อห้ามในการตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan
- สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ
- ใครคือกลุ่มเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับบ้าง?
- แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ
- ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ไขมันพอกตับมี 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ ยังไม่มีอาการหรือการอักเสบเกิดขึ้นในตับ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากไม่มีการรักษาและปล่อยให้การอักเสบเกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังได้
- ระยะที่ 3 การอักเสบรุนแรงต่อเนื่องจนเกิดพังผืด (fibrosis) สะสมในตับ ระยะนี้เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลงและกลายเป็นพังผืด
- ระยะที่ 4 เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เกิดภาวะตับแข็งและอาจนำมาสู่มะเร็งตับได้
เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีไขมันพอกตับ?
ไขมันพอกตับ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ้วนเท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงคือคนที่อ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ผู้ตรวจพบโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 60% โดยส่วนใหญ่โรคไขมันพอกตับจะไม่ค่อยแสดงอาการ หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกปวดหน่วงบริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งหากแพทย์สงสัยจะมีการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
การตรวจวินิจฉัยไขมันพอกตับ
การวินิจฉัยโรคทำได้โดยเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าการทำงานของตับ ได้แก่ ค่า ALT, AST, ALP ที่ผิดปกติ หรือดูจากอัลตราซาวด์ช่องท้อง การเจาะชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) และการตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินปริมาณไขมันในตับรวมถึงระดับพังผืดและตับแข็งได้โดยที่ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว ใช้เวลาไม่นาน
การตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan คืออะไร?
Fibroscan คือ เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการตรวจโรคเกี่ยวกับตับ โดยจะใช้เพื่อตรวจหาพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนเมื่อเทียบกับวิธีตรวจแบบเดิมที่ต้องเจาะตับ นอกจากนี้ก็สามารถตรวจก่อนป่วยได้อีกด้วย เพราะยิ่งตรวจก่อน ยิ่งทำให้การรักษาได้ทันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเตรียมตัวก่อนตรวจ Fibroscan
ควรงดน้ำ งดอาหารที่ให้พลังงานอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด และตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan
ข้อห้ามในการตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan
- ผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในร่างกาย (Active implantable medical device) เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemekers) , ฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy)
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภาวะท้องมาน
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ
- สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ
- โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการติดเชื้อเอชไอวี
- การรับประทานอาหารพลังงานสูง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮล์มากเกินไป
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ใครคือกลุ่มเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับบ้าง?
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีคอเรสเตอรอลในเลือดสูง
- ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- ผู้ที่อ้วนลงพุง
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ
- ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (BMI เกิน 25) ควรออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำปี
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ