ไซนัสอักเสบเรื้อรัง รักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคป
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี
ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การรักษาไซนัสอักเสบต้องอาศัยระยะเวลา การรักษาไซนัสที่ได้ผลกรณีไม่ตอบสนองต่อการรักาด้วยยาในปัจจุบัน คือการผ่าตัดรักษาไซนัสผ่านกล้อง เรียกว่า การผ่าตัดไซนัสส่องกล้องเอ็นโดสโคป (Functional Endoscopic Sinus Surgery: FESS) ที่มีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อย เลือดออกน้อย เจ็บแผลน้อย สามารถหายใจทางจมูกได้ดี ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผลภายนอก
ทำไมต้องเป็นกล้องเอ็นโดสโคป?
กล้องเอ็นโดสโคป เป็นกล้องขยายที่มีขนาดเล็ก สามารถดูบริเวณรอยโรคในโพรงจมูกและไซนัสได้ตรงและชัดเจน โดยเฉพาะในบริเวณที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ทำให้การประเมินรอยโรคและการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น เนื่องจากเป็นการผ่าตัดผ่านรูจมูก โดยทั่วไปจึงไม่มีแผลผ่าตัดที่ผิวหนัง
การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป คืออะไร?
การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Functional Endoscopic Sinus Surgery: FESS) เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื้อที่อักเสบออกบางส่วนเพื่อเปิดโพรงไซนัส ซึ่งการใช้กล้องเอ็นโดสโคปทำให้เห็นภาพบริเวณที่ทำผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้น สามารถตัดเนื้อเยื่อที่เป็นโรคที่ต้องการตัดได้ดี โดยให้ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อย เลือดออกน้อย หลังผ่าตัดเจ็บแผลน้อย สามารถหายใจทางจมูกได้ดี ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผลภายนอก
การผ่าตัดไซนัสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ
- กรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างแน่นอน เช่น เกิดการอักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในตาและอักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในสมอง สงสัยว่าเป็นเนื้องอก ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา
- กรณีที่ควรจะผ่าตัด ในผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบแบบเรื้อรังหรือแบบเฉียบพลันที่เป็นๆ หายๆ หรือมีริดสีดวงจมูกที่ใช้ยาที่เหมาะสมแล้วไม่ได้ผล
วิธีการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
ซึ่งการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมงซึ่งขึ้นกับชนิด และความรุนแรงของโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยว่าจะทำผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความสมัครใจของผู้ป่วย
หลังจากผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะใส่วัสดุห้ามเลือดไว้ในโพรงจมูก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปาก โดยหลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง แพทย์จะเอาวัสดุห้ามเลือดออก หากผู้ป่วยไม่มีเลือดออกมาก และไม่พบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการผ่าตัดผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ หากผู้ป่วยยังไม่แข็งแรง แพทย์จะเฝ้าดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะปลอดภัย และไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
ปฏิบัติตนหลังผ่าตัด
ช่วงแรกแพทย์จะนัดตรวจส่องกล้องทำความสะอาดในโพรงจมูกทุก 1 สัปดาห์ ประมาณ 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นจะทิ้งระยะห่างขึ้นตามที่แพทย์แนะนำ และควรปฏิบัติตนหลังการผ่าตัด ดังนี้
- หลังผ่าตัดจะมีวัสดุห้ามเลือดไว้ในโพรงจมูก ทำให้ต้องหายใจทางปาก อาจทำให้มีอาการเจ็บคอ คอแห้งได้ ควรจิบหรือดื่มน้ำบ่อยๆ และกลั้วคอบ่อยๆ
- อาจจะมีไข้ รู้สึกคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก หรือมีเสียงเปลี่ยนได้อาการมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
- เยื่อบุจมูกอาจบวมขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูกมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรนอนศีรษะสูง
- ในช่วงพักฟื้น ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูก การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก การไอแรงๆ การออกแรงมาก การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือการยกของหนัก
- ควรล้างทำความสะอาดโพรงจมูกและแผลผ่าตัดด้วยนำเกลืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดสะเก็ดแผล
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการผ่าตัด
เนื่องจากโพรงจมูกและไซนัสอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ เช่น ตา สมอง การผ่าตัดจึงอาจเกิดอันตรายกับอวัยวะใกล้เคียงได้ เช่น
- มีเลือดออกในหรือรอบดวงตา หากเลือดออกมากอาจทำให้การมองเห็นลดลง
- ท่อน้ำตาอุดตัน เนื่องจากท่อน้ำตาซึ่งช่วยระบายน้ำตาลงสู่โพรงจมูก อยู่ใกล้กับบริเวณที่ทำผ่าตัด จึงอาจเกิดการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บจนมีการอุดตันได้ทำให้น้ำตาไหลจากตาอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่อาการมักค่อยๆ ดีขึ้นหลังผ่าตัด
- ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้ามาในโพรงจมูก เกิดจากการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บต่อเพดานจมูก
อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของโรค ความผิดปกติของโครงสร้างในจมูกของผู้ป่วยเอง เป็นต้น เมื่อทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ควรมาตรวจตามแพทย์นัดอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามอาการ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก