3 ขั้นตอนการดูแลภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดสำหรับคุณแม่มือใหม่
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : นพ. ศราวุธ ตั้งมานะกุล
“ภาวะตัวเหลือง” เป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยพบมากในทารกหลังคลอดถึง 70% ซึ่งอาการตัวเหลืองมักเป็นในวันที่ 2-3 และส่วนใหญ่จะหายได้เองไม่เกิน 3 สัปดาห์หลังคลอด แต่ถ้าระดับสารเหลืองมากกว่าปกติอาจทำอันตรายต่อสมองของทารกได้ ทารกอาจมีอาการซึม ดูดนมได้น้อยลงและถ้าเหลืองรุนแรงมากอาจมีอาการชักเกร็งและสมองถูกทำลายอย่างถาวร ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตภาวะตัวเหลืองของลูกได้โดยจะเห็นความเหลืองได้ที่ผิวหนังและเยื่อบุตาขาว ซึ่งจะเริ่มเห็นที่ใบหน้าก่อน แต่ถ้าเหลืองมากขึ้นจะเหลืองลามมาที่ลำตัว แขนและขาตามลำดับ
สารบัญ
สาเหตุของภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองในทารกหลังคลอดนั้น เกิดได้จากปัจจัย 3 อย่าง คือ
- โดยธรรมชาติทารกจะมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ และสารเหลืองเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง จึงทำให้ทารกแรกเกิดมีปริมาณของสารเหลืองที่ผลิตออกมามาก
- ทารกแรกเกิดตับยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งตับมีหน้าที่ขับสารเหลืองออกจากร่างกายทางลำไส้ โดยขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ หากสังเกตดูให้ดีจะพบว่าอุจจาระของทารกมีสีเหลืองเข้มหรือเหลืองทอง ซึ่งก็คือสารเหลืองในร่างกายที่ถูกขับออกมาทางลำไส้นั่นเอง
- เกิดการดูดซึมสารเหลืองในลำไส้กลับเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น กรณีนี้ที่พบบ่อยคือ ทารกได้นมน้อยเกินไปทำให้มีอุจจาระออกมาปริมาณน้อย สารเหลืองจึงถูกขับออกมาน้อยตามไปด้วย และยังทำให้สารเหลืองถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ทำให้ร่างกายมีสารเหลืองเพิ่มขึ้น
การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกหลังคลอด
- ให้ทารกทานนมบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-12 มื้อนม เพื่อเร่งให้ทารกขับถ่ายสารเหลืองออกมากับอุจจาระ และควรเน้นให้ทารกได้รับนมแม่ เพราะนมแม่มีสารที่กระตุ้นให้ทารกถ่ายอุจจาระบ่อย
- การรักษาโดยการส่องไฟ (Phototherapy) หากพบว่าหลังคลอดลูกมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรนำลูกมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวัดสารเหลืองในร่างกาย หากมีระดับสารเหลืองมากกว่าปกติจะได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ โดยแสงที่ใช้รักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสม คือ คลื่นแสงสีฟ้า (Blue greenspectram) ซึ่งแสงสีฟ้าจะไปเปลี่ยนรูปร่างของสารเหลืองในร่างกายให้สามารถละลายน้ำและถูกขับออกมาได้ เพราะฉะนั้นการนำทารกไปตากแดดเพื่อรักษาตัวเหลืองจะไม่ได้ช่วยให้หายเหลืองมากนัก แต่กลับมีข้อเสียคือ ทำให้ทารกมีไข้ตัวร้อนได้
- การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Exchange transfusion) กรณีที่ทารกตัวเหลืองมากจนถึงระดับวิกฤต อาจทำให้ทารกเกิดอาการชักเกร็งและสมองพิการได้ จำเป็นต้องลดระดับสารเหลืองลงอย่างรวดเร็ว โดยการเปลี่ยนถ่ายเลือดของทารกกับเลือดของผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างจึงพิจารณาทำในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการส่องไฟเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อทารกมีอาการตัวเหลือง คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำเปล่าหรือพาไปตากแดด เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ภาวะตัวเหลืองดีขึ้นแล้วนั้น การปล่อยทิ้งไว้นาน หรือการรักษาล่าช้าอาจทำให้ทารกเกิดอาการชักและสมองพิการถาวรได้ ฉะนั้นหลังคลอดคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกน้อย หากลูกมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ ควรรีบพาลูกน้อยกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก