5 ขั้นตอนการรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดอุบัติเหตุฟันหลุด

ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม

บทความโดย :

5 ขั้นตอนการรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดอุบัติเหตุฟันหลุด

เรื่องอุบัติเหตุกับเด็กเล็กเป็นสิ่งที่เกิดคู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่กำลังซน หรือกำลังหัดเดิน ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับฟันเด็กที่พบส่วนใหญ่ เช่น ฟันถูกกระแทกเข้าไป ฟันโยก ฟันหลุด ฟันถูกกระแทกออกมา ฟันหัก เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวแล้วคุณแม่หลายคนมักจะตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นเรามีวิธีมาฝากกันค่ะ


วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อลูกน้อยเกิดอุบัติเหตุฟันหลุด

  1. หาฟันให้พบโดยเร็วที่สุด โดยจับที่ตัวฟัน ห้ามจับรากฟัน ซึ่งตัวฟันมีสีขาวกว่าและไม่มีปลายแหลม ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้จับรากฟัน เพราะบริเวณรากฟันมีเยื่อยึดระหว่างกระดูกและฟันอยู่ หากไม่หลุดหายไป การปลูกฟันกลับเข้าไปใหม่จะสามารถทำได้ประสบความสำเร็จ
  2. อย่าขัด แปรง ถูฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เซลล์เยื่อยึดกระดูกและฟันตายได้ ถ้าฟันสกปรกมาก ให้ล้างโดยจับที่ตัวฟัน เปิดให้น้ำไหลเอื่อยๆ ผ่านเท่านั้น
  3. สวมฟันกลับเข้าที่เดิมทันที ถ้าทำได้ โดยใส่ส่วนที่เป็นรากฟันเข้าไป หากทำไม่ได้ให้แช่ฟันไว้ในน้ำนมจืดดีที่สุด รองลงมาคือน้ำเกลือล้างแผล หากหาไม่ได้ทั้งสองอย่าง ให้ใช้วิธีอมฟันไว้ในกระพุ้งแก้มหรือใต้ลิ้นของเจ้าของฟัน หรือแช่ฟันไว้ในน้ำเปล่า อย่าให้ฟันแห้งเด็ดขาด แล้วรีบมาพบทันตแพทย์
  4. ควรรีบมาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด ทางที่ดีไม่ควรเกิน 30 นาทีหลังเกิดอุบัติเหตุฟันหลุด ซึ่งโอกาสในการรักษาฟันได้สำเร็จจะมีมากขึ้น หากเกิน 2 ชม. ไปแล้ว ผลสำเร็จจะลดลง
  5. หากเป็นฟันน้ำนมหลุด การใส่ฟันกลับและเข้าเฝือกยึดไว้มักไม่ประสบความสำเร็จ แต่อาจนำฟัน (วิธีการเดียวกับฟันแท้) ไปให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีการป้องกันอุบัติเหตุฟันหลุด มีข้อแนะนำดังนี้

  1. เด็กเล็กวัยหัดเดินควรมีผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิด และควรใส่รองเท้าที่กระชับและพอดีเท้าให้กับเด็ก
  2. สวมหมวกนิรภัยให้เด็กทุกครั้งที่ขี่จักรยานหรือเล่นสเก็ต และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งรถ หากเป็นเด็กเล็กมากควรให้นั่งใน Car seat เมื่อเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทก เช่น บาสเกตบอล รักบี้ฟุตบอล ควรปรึกษาทันตแพทย์ในการทำเครื่องมือป้องกันฟัน หรือ Mouth guard และใส่เมื่อมีการเล่นกีฬา
  3. ผู้ปกครองควรสอนบุตรหลานให้ระมัดระวังตัวเอง ผู้อื่น ในการเล่นที่สนามเด็กเล่นและที่สระว่ายน้ำ ซึ่งการกระโดดน้ำควรกระโดดในสระบริเวณที่มีการจัดไว้
  4. ควรดูแลให้เด็กมีสุขภาพฟันดี ไม่มีฟันผุ จะช่วยลดความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุลงได้ เพราะถ้ามีฟันผุเนื้อฟันไม่แข็งแรงและเหลือน้อย เมื่อได้รับแรงกระแทกเล็กน้อย ก็อาจหักได้ นอกจากนี้ส่วนแหลมคมของฟันที่ผุ อาจทำให้เกิดบาดแผลที่แก้ม และริมฝีปากได้
  5. เด็กที่มีฟันหน้าบนยื่นออกมามาก ริมฝีปากปิดไม่สนิท ควรได้รับการจัดฟันเพื่อลดการยื่นของฟัน ซึ่งเด็กที่มีฟันหน้ายื่นมีโอกาสได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับฟันมากกว่าเด็กที่ฟันปกติถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ตามหากเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับช่องปากและฟัน การดูแลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ ดังนั้นผู้ปกครองหรือผู้ที่ประสบเหตุการณ์ควรตั้งสติให้ดี


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย