กรดไหลย้อนเรื้อรัง ไม่หายขาด ทำอย่างไรดี
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สุขุมพันธ์ เก่าเจริญ
อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาถึงอกหรือคอ รวมถึงมีอาการเรอเปรี้ยวขมในปากและรู้สึกจุกเสียดแน่นท้อง เป็นอาการหลักของกรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease) สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน โรคนี้ไม่สามารถหายได้ด้วยการรับประทานยาอย่างเดียว ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้มีอาการกำเริบด้วย แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรังไม่หายขาด อาจต้องตรวจด้วยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หรือแยกโรคอื่นๆ ออก
สาเหตุการเกิดโรคกรดไหลย้อน (GERD)
- หูรูดระหว่าหลอดอาหารและกระเพาะอาหารหลวมและคลายตัว ซึ่งปกติต้องรัดตัวแน่น ไม่ให้อาหารย้อนกลับขึ้นมาหลอดอาหารเวลาทานข้าว (Gastroesophageal junction incompetence)
- มีกรดหรือน้ำย่อยไหลย้อนจากกระเพาะขึ้นมาหลอดอาหาร (Acid or non-acid reflux)
- การบีบตัวของหลอดอาหารเพื่อขับกรดหรือน้ำย่อยไม่ดีพอ (Impaired esophageal acid clearance)
- เยื่อบุหลอดอาหารมีความไวต่อกรด ทำให้ระคายเคืองง่าย (Esophageal hypersensitivity)
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน
โรคนี้มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ พฤติกรรมการรับประทานแล้วนอนทันที ความอ้วน น้ำหนักเกินที่ทำให้มีความดันท้องเพิ่มมากขึ้น การรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว รสจัด รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ ก็จะทำให้อาการกำเริบได้
อาการกรดไหลย้อน
อาการที่พบบ่อยของกรดไหลย้อนมี แสบร้อนหน้าอก (heartburn) และเรอ (regurgitation) แต่กรดไหลย้อนก็สามารถมาได้ด้วยอาการอื่นๆ ได้หลายแบบ อาจแบ่งได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
อาการด้านหลอดอาหาร
- มีเยื่อบุหลอดอาหารปกติ มีอาการแสบร้อน เรอเปรี้ยว (Typical reflux syndrome) และ แสบร้อนอก (Reflux chest pain syndrome)
- มีเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ อาจมีหลอดอาหารตีบ ภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) อาจมีเซลล์ผิดปกติ และมะเร็งหลอดอาหาร
อาการนอกหลอดอาหาร
- อาการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรดไหลย้อน ได้แก่ ไอจากกรดไหลย้อนมาระคายเคืองคอ เส้นเสียงอักเสบ หอบหืดกำเริบ ฟันผุ
- น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกรดไหลย้อนแต่ยังไม่ชัดเจน ได้แก่ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ มีพังผืดในปอด หูชั้นกลางอักเสบ
เป็นกรดไหลย้อน เมื่อไรถึงต้องตรวจเพิ่มเติม?
ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรังไม่หายขาด อาจจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หรือมีอาการที่บ่งชี้ดังนี้
เมื่อไรควรส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน | เมื่อไรควรตรวจ pH monitoring (ตรวจกรดไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร) |
---|---|
|
|
การรักษาโรคกรดไหลย้อน
การรักษาโรคกรดไหลย้อนให้หายขาด ไม่สามารถรักษาด้วยแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย โดยภาพรวมแล้ว แบ่งการรักษาเป็น 3 ส่วน คือ อาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต และยารักษา โดยรายละเอียดดังต่อไปนี้
อาหาร | พฤติกรรมการใช้ชีวิต | ยารักษา |
---|---|---|
|
|
|
เมื่อไรถึงเรียกว่าเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรังไม่หายขาด (Refractory GERD)?
ผู้ป่วยที่มีอาการของกรดไหลย้อนอยู่ตลอด หลังกินยาลดกรดขนาดปกติ มากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์ อาการก็ยังไม่ทุเลา จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการไม่หายซักทีเป็นจากกรดไหลย้อนจริงๆที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือเป็นจากสาเหตุอื่นๆ โดยมีวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่มีอาการเรื้อรังไม่หาย ดังนี้
สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน ตามที่แพทย์แนะนำครบหรือยัง การจะรักษากรดไหลย้อนให้หายขึ้นกับยาซึ่งเป็นบทบาทของแพทย์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นบทบาทของผู้ป่วยร่วมกัน
ปรับยากรดไหลย้อน
- ย้อนกลับไปดูว่ารับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยกรดไหลย้อน 40% ไม่ได้รับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง บางครั้งอาการดีขึ้นก็หยุดรับประทานก่อนทำให้รักษาไม่ต่อเนื่อง
- ตรวจสอบว่าเราทานยาถูกต้องหรือไม่ ยาลดกรด (PPI) จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดถ้าทานก่อนมื้ออาหาร ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่รับประทานผิด คือ หลังอาหาร หรือก่อนนอน
- ลองปรึกษาแพทย์เรื่องปรับยาลดกรด (PPI) สำหรับผู้ป่วยที่ทานยาลดกรดแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาขึ้นจากวันละหนึ่งครั้ง เป็นวันละสองครั้ง หรือเลือกเปลี่ยนตัวยาลดกรด เป็นยาลดกรดตัวอื่น (Switching PPI)
- ปรึกษาแพทย์พิจารณาเพิ่มยากลุ่มอื่นๆ นอกจากลดกรดที่อาจจะช่วยลดอาการได้ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาโรคอื่น ๆ ที่อาจซ่อนอยู่ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางหลอดอาหารของโรคกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนอก เรอเปรี้ยว แนะนำให้ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาโรคอื่นๆ ที่อาจซ่อนอยู่ และทำให้เกิดอาหารเหล่านี้ได้ โดยประโยชน์อีกอย่างของการส่องกล้อง คือ ช่วยประเมินความรุนแรงของกรดไหลย้อน เช่น มีเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ประเมินหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารว่าหย่อนหรือไม่
ปรึกษาแพทย์หูคอจมูกหรือแพทย์โรคภูมิแพ้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอกหลอดอาหารของโรคกรดไหลย้อน เช่น กรดไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองคอเสียงแหบไอบ่อยแนะนำปรึกษาแพทย์หูคอจมูก หรือแพทย์โรคภูมิแพ้ มาช่วยตรวจว่าอาการดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อนไม่ได้มีโรคทางหูคอจมูกซ่อนอยู่
ตรวจดูด้วยเครื่องมือพิเศษว่ามีกรดหรือน้ำย่อยที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนขึ้นมาหรือไม่ (Reflux and pH monitoring) สำหรับผู้ป่วยที่ดูแลรักษาตัวและตรวจตามขั้นตอนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ยังตรวจไม่เจออะไรและอาการกรดไหลย้อนยังไม่หายแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจวิธีนี้เพิ่มเติม การตรวจด้วยวิธีนี้อาจได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- มีกรดไหลย้อนขึ้นมาทางเดินอาหารจริงหรือไม่
- ถ้าไม่มีกรดไหลย้อน มีน้ำย่อยหรืออย่างอื่นที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนขึ้นมาหรือไม่
- หลังทานยาลดกรดแล้วยาสามารถยับยั้งกรดได้หรือไม่
- กรดหรือน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาสัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยหรือไม่
- ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลช่วยเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การรักษากรดไหลย้อนควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะแต่ละคนอาจมีรายละเอียดของโรคที่ไม่เหมือนกัน หากมีอาการที่บ่งบอกถึงโรคนี้อย่าปล่อยไว้เรื้อรัง ควรเข้ามาพบแพทย์ครับ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ