กระดูกพรุนรู้ก่อน ป้องกันได้ รักษาเร็ว ด้วยการตรวจ Bone Densitometry

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. วิชญเวทย์ รักษ์กุลชน

กระดูกพรุนรู้ก่อน ป้องกันได้ รักษาเร็ว ด้วยการตรวจ Bone Densitometry

ความแข็งแรงของกระดูกอาจเป็นสิ่งที่หลายคนกังวล ยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนได้สูง พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเป็นภัยเงียบ เนื่องจากจะไม่มีอาการ แต่จะรู้เมื่อกระดูกหักไปแล้ว เพราะเกิดจากมวลกระดูกที่ลดลง และโครงสร้างกระดูกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความแข็งแกร่งน้อยลง เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยอาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเราควรที่จะป้องกันหรือรีบรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น


จะทราบได้อย่างไรว่ามี “ภาวะกระดูกพรุน” หรือไม่ ?

ภาวะกระดูกพรุนนั้นจะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน อาการของโรคกระดูกพรุนนี้มักค่อยๆ เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตเห็น เช่น รู้สึกปวดตามบริเวณเอว หลัง ข้อมือหรือเริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น หลังโก่ง ไหล่งุ้ม หรือเตี้ยลง เป็นต้น บริเวณที่พบกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย ได้แก่ บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกหลัง และกระดูกสะโพก ซึ่งการหักของกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระดูกสะโพกในคนที่มีภาวะกระดูกพรุนนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการ วิธีการที่ดีที่สุดที่จะรู้ได้ว่า คุณกำลังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด คือ “การตรวจมวลกระดูก หรือการตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometry)”


กระดูกพรุน, ตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก


การตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometry) คืออะไร

การตรวจมวลกระดูก หรือ การตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometry) เป็นการตรวจหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่างๆ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก ข้อมือ และกระดูกทั้งตัว ว่ามีภาวะกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด โดยการใช้รังสีที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner หรือ DEXA scanner พลังงานต่ำสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ซึ่งจะทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย


ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometry)

ก่อนการตรวจผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษทั้งสิ้น สามารถตรวจได้เลย และในวันตรวจสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ เมื่อตรวจเสร็จแล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่มีรังสีใดๆ หลงเหลืออยู่ในตัว แต่อาจต้องมีการเปลี่ยนชุด จึงขอแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจใส่ชุดที่สบาย ถอดเปลี่ยนได้ง่าย และไม่ใส่เครื่องประดับ

โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากโรคกระดูกพรุนใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสะโพก (Hip) กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) และกระดูกแขนส่วนปลาย (Forearm) โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังส่วนเอวที่นิยมตรวจกันมากที่สุด ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที และสามารถทราบผลได้ทันที

ทั้งนี้เราสามารถประเมินสภาวะโรคกระดูกพรุนโดยสามารถวัดได้จากค่า T-Score ซึ่งเป็นหน่วยวัดความหนาแน่นของกระดูกในเชิงเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในวัย 30 ปี ที่ถือว่าเป็นวัยที่กระดูกกำลังมีความหนาแน่นสูงที่สุดเป็นมาตรฐาน ดังนี้

  • ค่า T-Score มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
  • ค่า T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = โรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T-Score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

กระดูกพรุน, ตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก


ใครบ้างควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

การส่งตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometry) ได้ประโยชน์และคุ้มค่าในกลุ่มนี้

  1. ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  2. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 45 ปี (early menopause) รวมถึงผู้ที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
  3. ผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ก่อนวัยหมดประจำเดือน เช่น เจ็บป่วยเรื้อรัง intensive exercise เป็นต้น ยกเว้นการตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  4. ผู้ที่ได้รับยา Steroid เป็นเวลานาน (prednisolone มากกว่าหรือเท่ากับ 7.5 mg/day หรือเทียบเท่า นานกว่า 3 เดือน)
  5. บิดาหรือมารดามีกระดูกสะโพกหัก
  6. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลง มากกว่าหรือเท่ากับ 4 cm.
  7. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ BMI น้อยกว่า 20 kg/m2
  8. ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วย Aromatase Inhibitors หรือ ผู้ชายที่ได้รับการรักษาด้วย Androgen Deprivation Therapy
  9. ตรวจพบกระดูกบาง หรือ กระดูกสันหลังผิดรูปจาก X-ray
  10. มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (low trauma fracture)
  11. ประเมิน FRAX อยู่ใน intermediate risk
  12. ประเมิน OSTA score, KKOS score อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลางขึ้นไป หรือ ความเสี่ยงจาก nomogram มากกว่าหรือเท่ากับ 0.3 ในหญิงหมดประจำเดือน
  13. สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน ดื่มน้าอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน
  14. บุคคลที่มีโรคหรือภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น ไตวาย เบาหวาน โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทางานมากเกินไป พิษสุราเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง เป็นต้น

    กระดูกพรุน, ตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก


    ใครบ้างที่ไม่ควรตรวจ

    1. ผู้หญิงตั้งครรภ์
    2. ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี
    3. ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการจัดท่าที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ

    ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ควรสะสมมวลกระดูกตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือการรำมวยจีน เป็นต้น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารมีแคลเซียมสูง เช่น นม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งตัว ถั่วต่างๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว ได้แก่ ผักโขม คะน้า ชะพลู ใบยอ ลดอาหารมีไขมันสูง เพราะจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสุขภาพและตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย