หลังผ่าตัดเข่า ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ดูแลตัวเองอย่างไรดี?

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์

หลังผ่าตัดเข่า ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ดูแลตัวเองอย่างไรดี?

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งการเสื่อมตามวัยจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น การมีน้ำหนักตัวที่มากเกิน จากกรรมพันธุ์ หรือจากอุบัติเหตุก็เป็นได้ หากผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ทำการรักษา ข้อเข่าเสื่อมก็จะยังคงอาการเสื่อมต่อไป จนมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจทำให้เกิดความยากลำบากและความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งแนวทางการรักษาในปัจจุบัน โดยการผ่าตัดเข่าเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ถือเป็นอีกทางเลือกในการรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดเข่าด้วยเทคนิคระงับปวด ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลในการรักษาด้วยวิธีนี้ อีกทั้งยังช่วยให้คุณภาพชีวิตหลังผ่าตัดเข่าได้ผลดี  และถึงแม้ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว ก็ยังคงต้องดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อเทียมให้ยาวนาน ดังนั้นเพื่อให้เราได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า หลังผ่าตัดข้อเข่าเทียมแล้ว ดูแลตัวเองอย่างไรดี? ทางศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธนมีคำตอบมาให้ท่านแล้ว ไปทราบถึงแนวทางการดูแลที่ถูกต้องพร้อมกันได้เลยค่ะ

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นที่นิยมมาก เพราะเห็นผลการรักษาไว และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่เจ็บเข่าทรมานอีก โดยผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้น กล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ รอบข้อเข่าต้องการเวลาที่จะสมานแผล ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเพิ่มยืดหยุ่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันให้ได้มากที่สุด


ข้อปฏิบัติหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน โดยมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

  • ประมาณวันที่ 1-2 วัน จะมีการประคบเย็นบริเวณแผลผ่าตัดเพื่อลดบวม ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อขา งอขา เหยียดขา ในรายที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วจะได้ฝึกยืนลงน้ำหนักและหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Walker) ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด
  • ประมาณวันที่ 3-5 จะมีการฝึกเดิน ฝึกขึ้น-ลงบันได แนะนำวิธีการฝึกใช้กำลังเข่าและขา โดยนักกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินได้คล่อง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
  • ใน 2 สัปดาห์แรก ควรเดินด้วยไม้ค้ำยันหรือคอกช่วยเดิน เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวกดทับหัวเข่ามากเกินไป และป้องกันการลื่นล้ม โดยควรเดินในระยะสั้นๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระยะทางและเวลาการเดินให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง เป็นต้น

การดูแลตัวเองเพื่อถนอมข้อเข่าเทียมหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ถึงแม้ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว ก็ยังคงต้องดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อเทียมให้ยาวนาน โดยการปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ดังต่อไปนี้

1. อิริยาบถในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อ ได้แก่

  • นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา การบิดหมุนเข่าไม่ว่ากรณีใดๆ
  • ขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น
  • การยกหรือแบกของหนักๆ
  • การใช้หมอนรองใต้เข่าเป็นเวลานานๆ ขณะนอน เพราะจะทำให้การไหลเวียนเลือดที่ใต้ข้อพับเข่าเป็นไปได้ไม่สะดวก และข้อเข่าอาจตึงยึด

2. การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน

บริเวณบ้านควรจัดให้โล่ง สว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน เพื่อกันการสะดุดล้มลง ถ้าจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ควรมีราวจับทั้ง 2 ด้านของบันได ส้วมเป็นแบบชักโครก ภายในห้องน้ำควรใช้วัสดุกันลื่น มีราวจับ และจัดเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายขณะอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการลงไปอาบในอ่างอาบน้ำ เพราะอาจลื่นล้มได้ง่าย


3. การควบคุมน้ำหนักตัว

ไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไปเพื่อข้อเข่าเทียมจะได้ไม่ต้องรองรับน้ำหนักมาก ลดแรงกระแทกที่ข้อเทียม ควรรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เช่น รับประทานข้าวกล้อง ดื่มนมขาดมันเนย ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยและรสชาติไม่หวาน รับประทานเนื้อสัตว์ติดมันให้น้อยที่สุด เช่น ปลาซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด และหวานจัด เลือกรับประทานอาหารนึ่ง ตุ๋น อบ ย่าง แทนอาหารประเภทผัด ทอด และแกงกะทิ ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และงดดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์


4. การออกกำลังกายและเล่นกีฬา

ควรออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อรอบข้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น วิ่ง เทนนิส เป็นต้น การออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ ว่ายน้ำ เดิน


ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่?

โดยทั่วไปภายหลังผ่าเข่า 6 สัปดาห์ จะสามารถเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง เหยียดหรืองอข้อเข่าได้สุดหรือเกือบสุด และประมาณ 2-6 เดือน ข้อเทียมจะมีความแข็งแรงเสมือนเป็นข้อของผู้ป่วยเอง ทั้งนี้การฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และปัจจัยหลายๆ อย่าง ในระยะนี้จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ ทั้งการนั่ง เดิน ขึ้น-ลงบันได สามารถงอเข่าได้ประมาณ 120-140 องศา ออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทกต่อเข่าได้ เช่น เดินเร็ว รำมวยจีน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ตีกอล์ฟ ได้ ขับรถในกรณีที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ ถ้าใส่ข้อเทียมข้างซ้ายจะขับรถได้เร็วขึ้น

หากผู้ป่วยหมั่นทำกายภาพบำบัดอยู่เสมอ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของญาติในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสม การฟื้นตัวก็จะรวดเร็วกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุข รวมทั้งปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ยังช่วยให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น


ทั้งหมดนั้นคือแนวทางการปฏิบัติตน หลังการผ่าตัดเข่าเทียมที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง และสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้เร็วยิ่งขึ้น ทางศูนย์กระดูกข้อ โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม และสนับสนุนแนวทางสร้างสุขภาพดีให้ข้อเข่า โดยแพทย์ผู้ชำนาญการที่มากประสบการณ์ อีกทั้งทางศูนย์กระดูกข้อ โรงพยาบาลนครธน มีความพร้อม และมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับและคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่


นพ.นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
แพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์/ข้อสะโพกและข้อเข่า
ศูนย์กระดูกและข้อ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย