การตรวจวัด IQ EQ เสริมสร้างสติปัญญาและอารมณ์แก่เด็ก

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. กุลนิดา เต็มชวาลา

การตรวจวัด IQ EQ เสริมสร้างสติปัญญาและอารมณ์แก่เด็ก

ผู้ที่จะประสบความสำเร็จและได้การยอมรับในสังคมนั้น ไม่ได้มีแค่ความสามารถทางสติปัญญาที่ดี (IQ) เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่ดีควบคู่กันไปด้วย จึงจะเป็นคนที่มีคุณภาพ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีได้ผ่านการเลี้ยงดูและการสร้างกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีระดับ IQ และ EQ เป็นอย่างไร สามารถตรวจวัดได้ดังนี้


การวัด EQ (Emotional Quotient)

การวัด EQ หรือ การวัดความฉลาดทางอารมณ์เป็นการวัดความสามารถทางอารมณ์ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข การวัด EQ เพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้นมีระดับ ศักยภาพของตนเองอยู่ในระดับใดบ้าง ได้แก่

  • การควบคุมตนเอง
  • ความเห็นใจผู้อื่น
  • ความรับผิดชอบ
  • แรงจูงใจ
  • ความสามารถในการตัดสินใจ และการแก้ปัญหา
  • ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพ
  • ความภูมิใจในตนเอง
  • ความพึงพอใจในชีวิต
  • ความสุขสงบทางใจ

เพื่อเป็นการพัฒนาและการใช้ศักยภาพตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน ครอบครัว การเรียน การทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต


ควรจะวัด EQ เมื่อใด

  1. เมื่อต้องการทราบศักยภาพของตนเอง เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
  2. เมื่อตรวจพบแล้วว่ามี IQ ดี แต่มีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ครู หรือ คู่สมรส เป็นต้น
  3. เมื่อมีความผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น ก้าวร้าว การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมไม่เหมาะสม พฤติกรรมรุนแรง เข้ากับเพื่อนหรือครูไม่ได้ อดทนรอคอยไม่เป็น เห็นแก่ตัว ไม่รู้จักแบ่งปัน ทำงานเป็นทีมได้ อิจฉาผู้อื่น แยกตัว ซึมเศร้าและไม่มีความสุข ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น

การวัด IQ (Intelligence Quotient)

การวัด IQ หรือการวัดความฉลาดทางสติปัญญาหรือทางเชาวน์ปัญญาเป็นวิธีการหนึ่งของการทดสอบทางจิตวิทยา ซึ่งต้องทำการทดสอบโดยนักจิตวิทยาคลินิกที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทาง การวัด IQ ช่วยบอกให้ทราบถึง ความสามารถเด่น หรือความบกพร่องในการกระทำบางสิ่งบางอย่าง บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะตัววิธีการคิดแก้ปัญหา การตัดสินใจ และวิธีการทำงานรวมทั้งบอกถึงความผิดปกติบางประการที่มีผลต่อการวินิจฉัยทางแพทย์ต่อไป

การวัด IQ เป็นการวัดความสามารถของบุคคลนั้น ซึ่งแต่ละบุคคลจะทำได้ดีมากหรือน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกาย ภาวะทางจิตใจและอารมณ์ หรือแม้กระทั่งความเจ็บป่วย ดังนั้นคนที่ขาดสมาธิ มีความวิตกกังวล และไม่มีความพร้อมในขณะนั้น ก็จะทำได้ไม่เต็มที่


การวัด IQ ควรวัดตอนอายุ 2-70 ปี และ

  1. ในคนปกติที่ต้องการจะทราบระดับความสามารถทางสติปัญญาว่าอยู่ในระดับเท่าใด ช่วยให้ทราบถึงความสามารถเด่นหรือด้อยของบุคคล เพื่อปรับปรุง และเป็นแนวทางในการวางแผนการศึกษาให้เหมาะสมกับความสามารถของบุคคลนั้น
  2. เมื่อมีปัญหาทางการเรียน หรือเมื่อผลการเรียนลดลงไปกว่าเดิม เพื่อให้ทราบว่าเชาวน์ปัญญาของบุคคลในขณะนั้นสอดคล้องกับความสามารถที่แสดงออกมาหรือไม่
  3. เมื่อมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น สมาธิสั้น เหม่อลอย ความจำไม่ดี ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน ดึงผม มีลักษณะก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง พูดปด ขโมย ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมไม่ได้ ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น แยกตัว ซึมเศร้า หนีโรงเรียน รวมทั้งการปรับตัวในชีวิตประจำวันแย่ไปกว่าเดิม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยว่าสาเหตุมาจากบุคคลมีเชาวน์ปัญญาต่ำหรือเป็นโรคทางจิตเวช
  4. เมื่อมีปัญหาด้านกฎหมาย เพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาต่ำหรือไม่ ควรมีผู้คุ้มครองดูแลผลประโยชน์แทนหรือไม่
  5. เมื่อมีปัญหาทางด้านการแพทย์ เช่น ในเด็กหญิงที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำ ไม่สามารถดูแลตนเองได้ บางกรณีผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องทำหมันให้ หรือบางรายที่มีอุบัติเหตุหรือพยาธิสภาพทางสมองต้องผ่าตัด ก็จะมีการทดสอบ IQ ก่อนและหลังผ่าตัดสมอง

Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย