การทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง (Allergy Skin prick test)
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านภูมิแพ้, ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. วราลี ผดุงพรรค
การทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นหนึ่งในวิธีการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (ชนิดเฉียบพลัน IgE-mediated) โดยทำที่ผิวหนัง ในผู้ใหญ่และเด็กโตมักทำบริเวณแขนท่อนล่างด้านใน ส่วนเด็กเล็กมักทำบริเวณแผ่นหลัง แพทย์จะหยดน้ำยาที่ต้องการทดสอบลงบนผิวหนัง แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเพื่อให้น้ำยาสามารถซึมเข้าสู่ใต้ผิวหนัง การสะกิดมักจะไม่มีบาดแผล รออ่านผล 15 นาที ถ้าท่านแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด จะเกิดปฏิกิริยา นูน บวม แดง คล้ายตุ่มยุงกัดของผิวหนังบริเวณตำแหน่งที่หยดน้ำยาชนิดนั้นๆ การทดสอบด้วยวิธีนี้ใช้ปริมาณน้ำยาก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย (ประมาณเม็ดถั่วเขียว) โอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายนั้นมีน้อยมากว
ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง
- เพื่อค้นหาว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็น มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้หรือไม่
- ทำให้ทราบว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง และมากน้อยเพียงใด
- ทำให้สามารถหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้
- หากจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ แพทย์จะใช้ผลการทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนังนี้เป็นข้อมูลในการสั่งวัคซีนสำหรับฉีดให้ผู้ป่วย
การทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก
- ตรวจได้ทุกคน แต่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากผลการทดสอบจะแม่นยำมากกว่า
การทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนังไม่เหมาะกับใคร
ไม่แนะนำให้ทำการทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง กับบุคคลต่างๆ ดังนี้
- ในบุคคลที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบทั่วตัว
- ไม่เหมาะกับเด็กที่ต่ำกว่า 6 เดือน เพราะผิวหนังของเด็กที่อายุน้อยกว่านี้มีความไวมากกว่า อาจส่งผลให้ผลตรวจผิดพลาดได้
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ที่เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ เช่น ผื่น ลมพิษเรื้อรัง
- ผู้มีโอกาสเกิดปฏิกิริยารุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น มีประวัติแพ้อาหารรุนแรง
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง เช่น เคยมีอาการแพ้รุนแรงมาก่อน มีผื่นมาก หรือมีบริเวณผิวที่ไม่เป็นโรคไม่มากพอจะทดสอบทางผิวหนังได้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีเจาะเลือด
การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ
1. งดยากลุ่มที่มีผลต่อการทดสอบ ได้แก่
- กลุ่มยาแก้แพ้ ยาที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ยาแก้ลมพิษ ยาแก้ไอ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เช่น
- CPM (Chlopheniramine)
- Actifed (Nasolin)
- Decolgen, Tiffy
- Atarax (Hydroxyzine)
- Telfast (Fexofenadine)
- Dimetap
- Clarityne (Loratadine)
- Zyrtec (Cetirizine)
- Benadryl
- Xyzal (Levocetirizine)
- Aerius (Desloratadine)
- Clarinase
- กลุ่มยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาแก้วิงเวียนหรือเมารถ อย่างน้อย 1-3 สัปดาห์ เ ช่น Ativan (Lorazepam), Diazepam, Amitriptyline, Phenothiazines, Immipramine
- กลุ่มยาสเตียรอยด์ หากมีการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดหรือรับประทานเป็นเวลานาน หรือใช้ยาทาเฉพาะที่ท ี่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์บริเวณผิวหนังที่จะทำการทดสอบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพราะมีผลต่อการทดสอบได้
หมายเหตุ :- กลุ่มยา Anti-leukotriene (Singulair, Montex) กลุ่มยาพ่น เช่น ยาพ่นจมูก (Intranasal corticosteroid) และยาพ่นรักษาโรคหืด (Inhaledbronchodilator and inhaled corticosteroid) ให้ใช้ต่อเนื่องไม่ต้องงดเว้นก่อนมาทำการทดสอบ
- กลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาฆ่าเชื้อ ถ้าจำเป็นต้องใช้ไม่ต้องงด
2. แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หลวมสบาย เสื้อแขนสั้น หรือไม่รัดแขน เพื่อความสะดวกในการทดสอบ
3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งชื่อยาที่ใช้อยู่ให้แพทย์ทราบก่อนทดสอบ เพราะยาบางตัวอาจมีผลต่อการทดสอบ ควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนมาทำการทดสอบ ไม่ควรมีภาวะเจ็บป่วยในวันที่ทำการทดสอบ
ขั้นตอนการทดสอบ
- ทำความสะอาดผิวหนังที่ต้องการทดสอบโดยเช็ดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์
- รอให้แอลกอฮอล์แห้งทำเครื่องหมายด้วยปากกาหมึกแห้ง
- หยดน้ำยาทดสอบลงบนผิวหนังที่ทำเครื่องหมายไว้จนครบจำนวนที่ต้องการทดสอบ
- ใช้เข็มปราศจากเชื้อขนาดเล็กสะกิดผิวหนังผ่านบริเวณที่หยดน้ำยา
- รออ่านผลประมาณ 15 - 20 นาที โดยจะปรากฏเป็นตุ่มแดง คันบริเวณที่มีการแพ้
- หลังจากนั้นเช็ดทำความสะอาดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์อีกครั้ง แล้วทาครีมทับเพื่อลดอาการคันหรือแดงบริเวณที่ทำการทดสอบ อาจมีจุดแดงเล็กๆ ซึ่งอาจจะคงอยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะหายไปเอง
โรงพยาบาลนครธนได้จัดชุดทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังที่เหมาะสม ดังนี้
Allergy Skin Prick Test | |
---|---|
การทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ | การทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร |
1. ไร้ฝุ่น | 1. กล้วย |
2. แมลงสาบ | 2. ส้ม |
3. นุ่น | 3. นมวัว |
4. แมว | 4. Casein (ส่วนประกอบในนมวัว) |
5. สุนัข | 5. ไข่แดง |
6. สัตว์ปีก | 6. ไข่ขาว |
7. ละอองเกสรเชื้อราหลายชนิด | 7. ถั่วเหลือง |
8. ละอองเกสรหญ้าแพรก | 8. ถั่วลิสง |
9. ละอองเกสรหญ้าขน | 9. แป้งสาลี |
10. ละอองเกสรเชื้อรา | 10. กุ้ง |
11. กระถินณรงค์ | 11. ปู |
12. ยุง | 12. อาหารทะเลเปลือกแข็ง |
13. มดคันไฟ | 13. โกโก้ |
14. มะเขือเทศ | |
15. ทูน่า | |
16. หมู | |
17. ไก่ | |
18. เนื้อวัว | |
19. งา | |
20. ยีสต์ |
ข้อควรระวัง
การทดสอบด้วยวิธีนี้ใช้ปริมาณน้ำยาก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย (ประมาณเม็ดถั่วเขียว) โอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายนั้นมีน้อยมาก
การทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนังนั้น เป็นการทดสอบที่ทำให้รู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นเพราะหัวใจสำคัญของโรคภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตนแพ้ ทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้สามารถป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้ได้ หากมีอาการเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ได้แก่ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล จาม คันจนน้ำตาไหล อาการลมพิษ ผื่นแพ้เป็นๆ หายๆ หายใจถี่ๆ ไอแห้งๆ เรื้อรัง และ หายใจมีเสียงดังวี้ดหรือเสียงผิดปกติ ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจภูมิแพ้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านภูมิแพ้, ศูนย์สุขภาพเด็ก