การปฏิบัติตัวหลังใส่รากฟันเทียม ให้มีอายุใช้งานยืนยาวได้อย่างที่สุด

ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม

บทความโดย : ทพ. วุฒิพงษ์ เหล่าอมต

การปฏิบัติตัวหลังใส่รากฟันเทียม ให้มีอายุใช้งานยืนยาวได้อย่างที่สุด

การทำรากฟันเทียมจะให้ผลลัพธ์เหมือนกับรากฟันแท้ๆ มากที่สุด อีกทั้งยังแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งอายุของการใช้งานนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพของรากฟันเทียมของแต่ละบุคคลด้วย หากอยากให้รากฟันเทียมมีอายุการใช้งานยืนยาว การปฏิบัติตนและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี การเลี่ยงกิจกรรมและพฤติกรรมที่จะทำให้รากฟันเทียมเสียหายได้ รวมถึงวิธีการสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติระหว่างใส่รากเทียม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มีอายุใช้งานยืนยาวได้อย่างที่สุด


รากฟันเทียมทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไป

รากฟันเทียม คือ การใช้วัสดุที่มีความทนทานอย่างไทเทเนียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกร มีไว้เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปจากฟันผุ โรคเหงือก การถอนฟัน หรืออุบัติเหตุ และหากมีการสูญเสียฟันจำนวนหลายซี่ ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยและฝังรากฟันเทียมจำนวนหลายชิ้นเพื่อเป็นฐานรองรับสะพานฟันหรือฟันปลอมแบบถอดได้


การปฏิบัติตัวหลังใส่รากฟันเทียม

  1. รับประทานยาตรงตามเวลา และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดหลังทำการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมเรียบร้อยแล้ว
  2. สุขภาพของรากฟันเทียมนั้นแปรผันตรงกับสุขภาพช่องปาก ฉะนั้นจะต้องทำความสะอาดช่องปากและดูแลให้ช่องปากสะอาดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันโดยช่วงแรกอาจจะเลือกใช้แปรงขนนุ่มสำหรับหลังผ่าตัดโดยเฉพาะใช้ไหมขัดฟัน และอาจบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากสูตรฆ่าเชื้อในวันแรกๆ
  3. หลังจากทำรากฟันเทียม และอยู่ในระหว่างพักฟื้น อย่ากระทำการใดๆ ที่จะมีผลกระทบกับฟันปลอมซี่นั้นอย่างรุนแรง เพราะอาจจะทำให้แผลเปิดและอักเสบได้ เช่น การเคี้ยวอาหารแข็ง การออกกำลังกายหนัก
  4. หลังจากผ่าตัดฝังรากฟันเทียมอาจจะมีอาการบวมได้ สามารถที่จะประคบเย็นด้านนอกบริเวณจุดที่ใส่รากฟันเทียมได้หลังการผ่าตัด แต่ห้ามอมน้ำแข็งเด็ดขาด เพราะเหลี่ยมคมของน้ำแข็งอาจบาดถูกแผลผ่าตัด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แฝงตัวอยุ่ในก้อนน้ำแข็ง
  5. ช่วงระยะแรกควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด และอาหารร้อนจัด อาหารที่มีกรดสูงอย่าง น้ำผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ลูกอมหรือขนมหวาน อาหารที่แข็งและต้องออกแรงเคี้ยวหนักๆ
  6. ตรวจดูรากฟันเทียมเป็นประจำ เพื่อสังเกตดูถึงสัญญาณผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

กิจกรรมและพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงหลังทำรากฟันเทียม

  1. รับประทานอาหารแข็ง เหนียว ซึ่งการรับประทานอาหารที่ทำให้ต้องออกแรงเคี้ยวเยอะๆ อาจส่งผลทำให้รากฟันเทียมหลุดได้ เพราะหากหลุดแล้วการแก้ไขเพื่อให้รากฟันเทียมกลับเข้าที่เหมือนเดิมจะมีกระบวนการและวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าตอนทำครั้งแรก
  2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่จะต้องออกแรงหรือใช้แรงปะทะ หากเกิดอุบัติเหตุการกระแทกที่บริเวณช่องปากขึ้นมาอาจทำให้รากฟันเทียมเกิดความเสียหายหรือหลุดได้
  3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นตัวการที่ทำให้ส่งผลเสียมากมายต่อสุขภาพช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ การติดเชื้อ ฟันผุ มะเร็งในช่องปาก และส่งผลเสียต่อการฝังรากฟันเทียมด้วย ฉะนั้นเพื่อให้รากฟันเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานควรหลีกเลี่ยงสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังการฝังรากฟันเทียม
  4. ไม่มีวินัยในการทำความสะอาดช่องปาก หากขาดการดูแลเอาใจใส่และไม่ดูแลสุขภาพช่องปาก การใช้งานของรากฟันเทียมก็จะมีอายุน้อยลง หรือส่งผลให้รากฟันเทียมเสื่อมสภาพลงได้น

สัญญาณเตือนเมื่อการใส่รากฟันเทียมมีปัญหา

  1. หลังจากการใส่รากฟันเทียมและฟันปลอมแล้ว หากมีอาการปวด เหงือกบวมมากกว่าปกติ มีอาการเจ็บจนทนไม่ไหวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน อาจเกิดความผิดปกติหรือรากฟันเทียมอาจติดเชื้อได้ ให้รีบเข้ามาพบทันตแพทย์โดยทันที
  2. หลังใส่รากเทียมไปแล้วประมาณ 1 – 2 วัน หากมีอาการเหล่านี้ อาทิ เจ็บฟันข้างเคียง อาการชา มีเลือดออกที่โพรงจมูก มีหนองบริเวณฟัน เหงือก ริมฝีปาก หรือลิ้น และมีไข้ร่วมด้วยหรือรู้สึกว่าตัวรากเทียมโยก ให้รีบเข้าพบทันตแพทย์เพื่อดูอาการทันที

แม้ว่ารากฟันเทียมจะมีความแข็งแรง ทนทาน แต่ก็สามารถเกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพได้ การป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายที่จะกระทบกับรากฟันเทียมโดยตรง รวมทั้งการดูแลสุขภาพในช่องปากเป็นอย่างดี จะช่วยทำให้คุณมีรอยยิ้มสวยๆ ไปได้อีกนาน




ทพ.วุฒิพงษ์ เหล่าอมต
ทันตกรรมทั่วไป/ทันตกรรมจัดฟัน
ศูนย์ทันตกรรม






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย