การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบผู้ป่วยโรคหัวใจวาย
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ คือ ภาวะหัวใจวาย ถือว่าเป็นภัยเงียบที่เกิดได้ในทุกเพศทุกวัยที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นภาวะที่มักไม่มีสัญญาณเตือนก่อนเหมือนโรคอื่นๆ และสามารถเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ภาวะเหล่านี้หากเกิดขึ้นแล้วอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้
โรคหัวใจวายเฉียบพลัน
โรคหัวใจวาย หมายถึง ภาวะที่หัวใจหยุดการทำงาน หยุดบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ อย่างเฉียบพลันเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดอุดตันโดยสิ้นเชิง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้
สำหรับอาการที่แสดงให้เห็น ในบางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกนำมาก่อน อาจจะร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร จะมีเหงื่อออกอย่างมากจนรู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน อาจมีอาการวิงเวียน อาเจียน หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก หายใจไม่ทัน หากเป็นมากขึ้น จะเกิดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายเต้นพลิ้ว หมดสติ และเสียชีวิตได้
วิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยหัวใจวาย
- หากพบว่ามีผู้ป่วยหัวใจวาย หรือมีอาการเข่าข่ายภาวะหัวใจวาย ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น หรือติดต่อ 1669 หรือโรงพยาบาล หรือทีมกู้ภัยใกล้เคียงทันที
- ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติ ให้สังเกตอาการของผู้ป่วยว่าสามารถหายใจเองได้หรือไม่ ชีพจรเต้นแรงหรือเปล่า หากว่าผู้ป่วยยังหายใจได้ จัดท่าผู้ป่วยในท่านั่ง หรือนอนราบกับพื้นในท่าที่สบายที่สุด ปลดเสื้อผ้าให้คลายออกเพื่อให้หายใจได้สะดวก เพื่อรอรถพยาบาลมารับ
- ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้ประเมินความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยตรวจดูบริเวณรอบๆ ก่อนเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมกับให้ตรวจการรู้สึกตัว การหายใจ และปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยการตบไหล่ทั้งสองข้างและเรียกเสียงดังๆ หากไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ หรือหายใจผิดปกติที่เรียกว่า หายใจเฮือก ให้รีบขอความช่วยเหลือและทำการ CPR ทันที
- จัดท่าผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้นแข็ง โดยให้คุกเข่าบริเวณข้างลำตัวผู้ป่วยในระดับไหล่ จัดท่าผู้ป่วยนอนหงายเพื่อเปิดทางเดินหายใจโดยการ ดันหน้าผาก - ดึงคางขึ้น และตรวจสอบการหายใจโดยการเอียงหูฟังแนบที่จมูกผู้ป่วย จากนั้นให้เริ่มช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก โดยวางสันมือข้างที่ถนัดบริเวณกึ่งกลางกระดูกหน้าอกระดับเต้านม และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้แขนเหยียดตรง ไม่งอแขน ในอัตราความเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที และทำไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว หรือจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง
- หากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillators: AED) สามารถนำมาใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหายใจ หมดสติ ผู้ไปพบต้องมีสติ อย่าตื่นเต้นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเท่าที่จะทำได้ รวมถึงพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ โรงพยาบาล ที่ใกล้ที่สุด ก็จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เขามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ