การผ่าตัดเต้านมและการเสริมเต้าใหม่ในผู้ป่วยมะเร็ง

ศูนย์ : ศูนย์รักษ์เต้านม, ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย : พญ. วธู วาสนสิริ

การผ่าตัดเต้านมและการเสริมเต้าใหม่ในผู้ป่วยมะเร็ง

ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” แน่นอนว่าหากพบเร็วย่อมมีช่องทางในการรักษาที่มากกว่าและมีโอกาสหายได้ มะเร็งเต้านมก็เช่นกัน ในสมัยก่อนหากพบว่าเป็นมะเร็งส่วนใหญ่จะรักษาด้วยวิธีการตัดเต้านมทิ้ง แต่ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม ทำให้พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ช่วยให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการเหลือเต้านมเพียงข้างเดียวอีกต่อไป


การผ่าตัดมะเร็งเต้านม

โดยที่หลังผ่าตัดยังคงมีเค้าโครงเต้านมเหมือนเช่นก่อนผ่านั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่

  1. ผ่าตัดสงวนเต้า เป็นการตัดเนื้อเต้านมออกเพียงบางส่วน คือส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนเนื้อเยื่อที่ปกติจะเก็บไว้เพื่อคงรูปทรงของเต้านมเดิม เป็นวิธีที่แผลผ่าตัดมักจะเล็กกว่าและทำได้ง่าย ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้าจะเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะต้นๆ ก้อนไม่โตมาก
  2. ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และเสริมสร้างเต้านมใหม่ เป็นทางเลือกของผู้ป่วยที่ยังอยากมีเต้านม แต่ก้อนอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ วิธีการคือ หลังจากผ่าตัดเต้านมออกก็ผ่าตัดเสริมเต้าขึ้นมาใหม่โดยการใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง ซึ่งเนื้อเยื่อที่นำมาใช้ได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณที่หลัง (Latissimus Dorsi Flap) และกล้ามเนื้อและชั้นไขมันหน้าท้อง (Trasverse Rectus Abdominis Musculocutaneous Flap)
  3. การผ่าตัดโดยการใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณที่หลัง (Latissimus Dorsi Flap) แพทย์จะทำการเลาะกล้ามเนื้อที่หลัง (LD Flap) บางส่วนให้เพียงพอต่อส่วนของเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดออกไป หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัด และแผลผ่าตัดที่หลังข้างเดียวกับที่ทำผ่าตัดเต้านมออก ซึ่งเป็นแผลเส้นตรงยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดในบริเวณขอบเสื้อชั้นในเพื่อเน้นความสวยงามของแผล หลังผ่าตัดเมื่อแผลหายดีแล้ว สามารถใส่เสื้อในเพื่อปกปิดรอยแผลผ่าตัดได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ภายหลังผ่าตัดประมาณ 2 วัน และกลับบ้านเพื่อพักฟื้นพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง หลังจากนั้นค่อยมาติดตามการรักษาหลังกลับบ้านประมาณ 1 สัปดาห์
  4. การผ่าตัดโดยการใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันหน้าท้อง (Trasverse Rectus Abdominis Musculocutaneous Flap) เป็นการผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่ โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาผ่าตัดตกแต่งเสริมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัดและแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างสุด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังผ่าตัดประมาณ 3-5 วัน แล้วกลับบ้านพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง หลังจากนั้นค่อยมาติดตามการรักษาหลังกลับบ้านประมาณ 1 สัปดาห์
  5. ต้านมเทียม (Silicone) เป็นการผ่าตัดโดยใช้เต้านมเทียม หรือการใส่ซิลิโคนสามารถทำได้หลังการผ่าตัดเต้านมออกหมดเพื่อให้คงรูปทรงของเต้าไว้ ซึ่งการใส่ไม่มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมและไม่ได้กระตุ้นเซลล์มะเร็งเต้านมแต่อย่างใด โดยอาจจะใส่เต้านมเทียมเพียงอย่างเดียวหรือใส่ร่วมกับการใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเองก็ได้

เทคนิคการผ่าตัดเหล่านี้ได้ผลลัพธ์ด้านความสวยงามที่ดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจและคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งได้ โดยที่ผลการศึกษาพบว่า ผลในแง่ของอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งไม่ได้แตกต่างจากผู้ป่วยที่ตัดเต้านมออกทั้งเต้า (สำหรับการผ่าตัดสงวนเต้า อัตราการรอดชีวิตจะไม่ต่างเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีบริเวณเต้านมส่วนที่เหลือ)


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเต้านม

  1. แผลผ่าตัดจะมีผ้าปิดแผลไว้ ผู้ป่วยต้องระวังอย่าให้เปียกน้ำ หากมีเลือดซึมผ้าปิดแผลมากให้รีบแจ้งพยาบาล
  2. เมื่อปวดแผล จะให้ยาฉีดแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ หรือยาแก้ปวดรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ตามคำสั่งการรักษาของแพทย์
  3. แผลผ่าตัดส่วนใหญ่จะมีสายหรือท่อระบายน้ำออกจากแผล จึงต้องดูแลไม่ให้หัก พับ งอ รั่ว หรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม และดูการทำงานของสายหรือท่อระบายให้ทำงานอยู่เสมอ นอกจากนี้วางขวดระบายให้อยู่ในระดับต่ำกว่าแผลผ่าตัด
  4. สังเกตภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น แผลบวม ปวดมากขึ้น มีไข้ แขนบวม ข้อไหล่ติด เป็นต้น หากเกิดอาการให้รีบแจ้งทีมพยาบาล
  5. บริหารร่างกายตามคำแนะนำของพยาบาล เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและป้องกันข้อไหล่ติด
  6. การบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้และน้ำ เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยในการหายของแผล และการฟื้นตัวของผู้ป่วยเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนหลังจากการผ่าตัดโดยใช้เนื้อเยื่อของตนเองมาเสริมสร้างเป็นเต้านมคือ เนื้อเยื่อที่นำมาเสริมนั้นขาดเลือด พบในกรณีที่ใช้เนื้อจากท้องมากกว่าจากหลังเพราะเนื้อที่เอามามีปริมาณมากกว่า จะพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยมีสภาพของหลอดเลือดที่ไม่ดีอยู่แล้ว เช่น เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือดัชนีมวลกายมาก หากขาดเลือดไม่มากอาจจะเกิดเป็นแผล หรือมีอาการอักเสบซึ่งเมื่อดูรักษาจนหายแล้ว เต้านมที่ทำขึ้นมาใหม่อาจจะผิดรูปได้บ้าง แต่ถ้าขาดเลือดมากจำเป็นต้องผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่เสริมออก ทั้งนี้ภาวะเนื้อเยื่อเสริมขาดเลือดนั้นพบได้น้อยมากๆ

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในการผ่าตัดเต้านมทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าเสริมเต้านมหรือไม่ อาทิเช่น อาการแขนบวม (Lymphedema) จะพบได้มากในรายที่เลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด เนื่องจากทางเดินน้ำเหลืองถูกตัดระบบน้ำเหลืองถูกรบกวนทำให้แขนบวม ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะต้องระมัดระวังการเกิดแผลบริเวณแขนข้างที่บวมเนื่องจากผิวหนังจะติดเชื้อง่ายกว่าปกติ

อีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ ข้อไหล่ติด (Shoulder stiffness) มีสาเหตุจากการผ่าตัดทำให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืดมารัดบริเวณรักแร้ มีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและหัวไหล่ หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่พยายามใช้แขนข้างที่ได้รับการผ่าตัดเนื่องจากเจ็บ และตึงแผลไม่ขยับแขนติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ข้อไหล่ติดได้ สามารถป้องกันได้ง่ายโดยการบริหารข้อไหล่ตั้งแต่เนิ่นๆ หลังผ่าตัดโดยจะมีทีมพยาบาลคอยแนะนำท่าและความถี่ที่เหมาะสม

มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในผู้หญิง ด้วยอัตราร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งดีกว่าการรักษานั่นคือการป้องกัน ทำได้ด้วยการหมั่นตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ หรือผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40-45 ปี ขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโดยแพทย์ด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสามารถตรวจเจอมะเร็งเต้านมได้ในระยะเริ่มแรก เพราะยิ่งรู้เร็ว ย่อมรักษาได้ทันท่วงที และหายขาดได้ หรือแม้จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมทั้งหมด การสร้างเต้านมใหม่โดยนำผิวหนังกล้ามเนื้อและไขมันมาสร้างเป็นเต้านม ก็เป็นวิธีที่ทำให้คนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ มีความสุข ปราศจากปมด้อยเกี่ยวกับหน้าอก ซึ่งเป็นผลดีทั้งสุขภาพกายและใจ


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย