การฝากครรภ์และคลอดบุตร เรื่องที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรู้
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
การฝากครรภ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ คือ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วไม่ควรเกิน 3 เดือน นับจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าตั้งครรภ์ปกติ บุตรในครรภ์แข็งแรงและสมบูรณ์ จนกระทั่งคุณแม่คลอดบุตรด้วยความปลอดภัย บุตรมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แล้วขั้นตอนการฝากครรภ์และคลอดบุตรในโรงพยาบาลจะมีอย่างไรบ้างนั้น เรานำข้อมูลมาให้แล้ว
การฝากครรภ์ครั้งแรกสำหรับหญิงตั้งครรภ์
เตรียมตัวฝากครรภ์ครั้งแรก สิ่งที่ต้องเตรียม มีดังนี้
- บัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
- ประวัติสุขภาพ ประวัติการคลอดบุตร
- โรคประจำตัว การแพ้ยา
- ข้อมูลการมีประจำเดือน
การตรวจในการฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีการตรวจร่างกาย สุขภาพครรภ์ ดังนี้
- ตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
- ตรวจเลือดเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ
- ตรวจปัสสาวะคัดกรองความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ทั้งนี้ในวันฝากครรภ์ครั้งแรก คุณแม่จะได้รับคู่มือการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ ใบฝากครรภ์ บัตรนัดตรวจในครั้งถัดไป และโปรแกรมการคลอด
การตรวจครรภ์ตามนัดหมาย
เมื่อถึงวันนัดหมายกรุณานำสมุดบันทึกสุขภาพคุรแม่ตั้งครรภ์มาด้วยทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์จะได้ดูประวัติต่อเนื่อง ซึ่งการนัดตรวจครรภ์ตามนัดจะได้รับการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองไข่ขาว (โปรตีน) และน้ำตาลในปัสสาวะทุกครั้ง
โดยระยะการนัดตรวจครรภ์ มีดังนี้
อายุครรภ์ | นัดตรวจครรภ์ | ประเภทการตรวจ |
---|---|---|
น้อยกว่า 14 สัปดาห์ | 1 ครั้ง / เดือน | - ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด |
- คัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรีย | ||
15-28 สัปดาห์ | 1 ครั้ง / เดือน | - ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน ตรวจปัสสาวะ |
- เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ | ||
- สัปดาห์ 20-22 ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูเพศและพัฒนาการของทารก | ||
29-42 สัปดาห์ | 1 ครั้ง / 2 สัปดาห์ | - สอนนับลูกดิ้น ตรวจเลือด |
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก | ||
- สัปดาห์ 30 เลือกวิธีคลอด (คลอดแบบธรรมชาติ/ผ่าตัดคลอด) |
ขั้นตอนการเตรียมคลอดบุตร
เมื่อถึงกำหนดคลอด หรือหากมีอาการเข้าสู่ระยะคลอด หรือแน่ใจแล้วว่าเป็นอาการเจ็บท้องคลอด คือ เจ็บท้องทุก 5 นาทีติดต่อกัน 1 ชั่วโมง เจ็บอย่างต่อเนื่องไม่หาย หรือเจ็บพร้อมกับมีอาการ อาทิ น้ำเดินซึ่งมีน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดในปริมาณมาก หรือมีมูกเลือดออกจากช่องคลอด ให้คุณแม่รีบมาโรงพยาบาลได้เลย เพื่อเตรียมตัวในการคลอดต่อไป รวมไปถึง
- กรุณาเตรียมเอกสารแจ้งเกิด คือ บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคุณพ่อคุณแม่ ทะเบียนสมรส(ถ้ามี) ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแจ้งเกิดขณะที่ท่านพักอยู่ในโรงพยาบาล
- ในวันคลอดคุณพ่อสามารถเข้าห้องผ่าตัด หรือห้องคลอดได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด และงดการบันทึกภาพและเสียงขณะอยู่ในห้องผ่าตัด
ขั้นตอนการตรวจหลังการคลอดบุตร
ระยะเวลานัดตรวจ | ประเภทการตรวจ |
---|---|
ขณะพักฟื้นหลังคลอด | ตรวจแผลหลังคลอด (หลังจากออกจากรพ. 1 สัปดาห์) |
หลังคลอด 4-6 สัปดาห์ | - ตรวจแผลหลังคลอด |
- ตรวจน้ำคาวปลา | |
- การทำงานของมดลูก | |
- การตรวจมะเร็งปากมดลูก | |
- คำแนะนำในการคุมกำเนิด |
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 2 โรงพยาบาลนครธน โทร. 0-2450-9999 เบอร์ต่อ 1167,1168 โดยเราพร้อมให้บริการคุณแม่ตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ จนการกำเนิดลูกด้วยความปลอดภัย ด้วยทีมสูติ-นรีแพทย์ กุมารแพทย์ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงการบริการหลังคลอดที่พร้อมด้วยคุณภาพ
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี