ข้อเข่าเสื่อม ข้อไหล่ติด และข้อสะโพกเสื่อม ปัญหากวนใจในผู้สูงอายุ
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
ผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม ข้อไหล่ติด และข้อสะโพกเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม อาการของโรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเจ็บปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว ข้อเข่าผิดรูป ข่อเข่าอักเสบ เดินได้ไม่ปกติ ปวดหัวไหล่ยกแขนไม่ขึ้น ยิ่งมีการเจ็บปวดก็ยิ่งทำให้ต้องลดการเคลื่อนไหว เมื่อลดการเคลื่อนไหวก็ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้ออ่อนแอลง โดยเฉพาะภาวะข้อสะโพกหัก จะเป็นภาวะที่มีอันตรายสูง เนื่องจากกระดูกหักในผู้สูงอายุจะรักษาได้ยาก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเกิดแผลกดทับ และบางรายอาจถึงแก่ชีวิต
3 ปัญหาโรคข้อเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
1. โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) อาการเริ่มจากปวดเป็นๆ หายๆ เมื่อได้พักการใช้เข่า อาการปวดก็จะทุเลา และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ในรายที่เป็นมากอาการปวดจะเป็นตลอดเวลา เกิดภาวะข้อฝืด มีเสียงดังในเข่า ใช้งานไม่ถนัด บางรายมีข้อติด ตามมาด้วยการเกิดข้อผิดรูป หัวเข่าเสื่อมบวมโต บางรายมีขาโก่งออกมา และมีปัญหาในการใช้งานข้อเข่า เช่น ลุกนั่งม้าเตี้ย ขึ้นลงบันได รวมทั้งการเดิน
2. โรคข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) เป็นภาวะที่ทำให้มีอาการปวดไหล่และไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้สุดพิสัยข้อ ไม่ว่าจะขยับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยขยับให้ โดยอาการของโรคข้อไหล่ติด มี 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการปวดค่อย ๆ เป็นมากขึ้น ปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว ปวดมากตอนกลางคืนจนรบกวนการนอน พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อจะค่อย ๆ ลดลง
- ระยะข้อติด อาการปวดจากระยะแรกเริ่มลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทุกทิศทางลดลงชัดเจน อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก และ
- ระยะฟื้นตัว อาการปวดจะลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้น หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
3. โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Arthritis) เป็นการอักเสบของข้อสะโพกที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อเสื่อมสลายไป ทำให้มีอาการปวดบริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านหน้า มีการเคลื่อนไหวข้อสะโพกที่ติดขัด อาการมักจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก ซึ่งเมื่อมีการอักเสบของโรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นเวลานานนาน ผู้ป่วยสูงอายุจะเลี่ยงการการขยับข้อสะโพกเพื่อลดความปวด ส่งผลให้เกิดข้อยึดติด และไม่สามารถหมุนหรือเหยียดข้อสะโพกได้ กล้ามเนื้อต้นขาลีบ และอ่อนแรงลง บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน
การตรวจวินิจฉัยภาวะข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ
แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอาการปวด ลักษณะที่ผิดปกติ และการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากแพทย์สงสัยความผิดปกติที่ข้อสะโพก ข้อเข่า หรือข้อไหล่ แพทย์จะทำการส่งตรวจเอกซเรย์ (X-Ray), การสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อแยกโรคอื่นๆ ออกไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำ
การรักษาโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ
1. การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด
- โรคข้อเข่าเสื่อม เบื้องต้นจะใช้การรักษาด้วยยา มีหลายรูปแบบทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อ รับประทาน ยาบางตัวสามารถปรึกษากับเภสัชกรในร้านยาได้ แต่บางตัวจะต้องจ่ายตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งเป้าหมายรักษาคือช่วยบรรเทาอาการปวดอักเสบ บวมที่ข้อให้หายเร็วที่สุด รวมทั้งเน้นการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อให้ถูกหลัก การควบคุมน้ำหนัก การบริหารกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยพยุง รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีนั่ง นอน ยืน เดิน
- โรคข้อไหล่ติด การรักษาจะเป็นแบบประคับประคองตามระยะของโรค จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ การลดความเจ็บปวด เพิ่มพิสัยของการเคลื่อนไหว และการกลับมาใช้งานข้อไหล่ในการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนี้
- ระยะปวด การรักษาเน้นลดอาการปวดและการอักเสบ อาจให้ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ
- ระยะข้อติด การรักษาจะเน้นการเพิ่มพิสัยข้อ ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้เองโดยการยืดดัดข้อไหล่ทุกวัน โดยก่อนการดัดข้อไหล่ควรประคบด้วยแผ่นความร้อน หลังดัดข้อไหล่แล้วอาจใช้แผ่นความเย็นประคบป้องกันการอักเสบ หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาทำกายภาพบำบัดโดยการใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนต่าง ๆ และการดัดข้อไหล่โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยทำให้อาการเป็นปกติเร็วขึ้น
- ระยะฟื้นตัว จะเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่
- โรคข้อสะโพกเสื่อม ในระยะแรกจะรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายบริหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้สะโพกอย่างถูกวิธี นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดแบบรุนแรงรวมถึงช่วยชะลอการดำเนินของโรค
2. การรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคข้อเข่าเสื่อม ในกรณีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมรุนแรง แพทย์จะพิจารณาใช้เทคโนโลยีการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty) แบ่งเป็น
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartmental Knee Arthroplasty : UKA) เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสื่อมออก โดยเก็บรักษาผิวข้อเข่าในส่วนที่กระดูกอ่อนยังอยู่ใน สภาพดีไว้ แล้วทดแทนด้วยผิวข้อเทียม และกระดูกอ่อนเทียมเพียงบางส่วน
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total Knee Arthroplasty : TKA) ใช้กับผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรง มีอาการปวดทั่วทั้ง เข่า และแกนขา จึงมีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแบบ เปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด
โรคข้อไหล่ติด หากทำการรักษาแบบประคับประคองแล้วไม่ดีขึ้น และสาเหตุของอาการนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อไหล่ เป็นการผ่าตัดโดยเจาะรูที่ไหล่ 3-4 รู รูละประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร เพื่อใส่เครื่องมือเข้าไป นั่นก็คือกล้องขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ที่จะนำภาพภายในข้อออกมาแสดงบนจอภาพ และแพทย์ทำการตกแต่ง ตัดเยื่อหุ้มข้อ ด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง หรือเครื่องมือพิเศษ
ข้อดีการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อไหล่ ทำให้สามารถเห็นพยาธิสภาพในข้อได้อย่างชัดเจน และสามารถแก้ไขพยาธิสภาพได้ดี แผลมีขนาดเล็ก เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บน้อยกว่า สามารถทำกายภาพได้เร็วขึ้น ช่วยให้ฟื้นตัวเร็วและช่วยลดระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล
โรคข้อสะโพกเสื่อม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Hip Arthroplasty) เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการขยับของข้อ และแก้ไขปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- การเปลี่ยนหัวกระดูกสะโพกอย่างเดียว (Hemiarthroplasty) การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเพียงด้านเดียว ซึ่งตัดเฉพาะส่วนหัวของกระดูกต้นขา (Femur) ออก แล้วใส่ข้อเทียมเฉพาะส่วนที่เป็นหัวกระดูกและก้านเท่านั้น
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั้งหมด (Total Hip Arthroplasty) คือ การผ่าตัดทั้งหัวกระดูกต้นขา (Femur) และเบ้าสะโพก โดยเอาเฉพาะส่วนของกระดูกที่ตาย หรือเสื่อมออก แล้วแทนที่ด้วยข้อเทียมเป็นชุด ที่ประกอบด้วยเบ้าเทียม และหัวกระดูก Femur เทียมที่มีก้านต่อเพื่อเสียบลงในโพรงกระดูก
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ