คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการใช้สื่อ IT ในเด็กเล็ก

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย :

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการใช้สื่อ IT ในเด็กเล็ก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ เข้ามามีบทบาทในชีวิตจนเรียกได้ว่าเป็นเหมือนปัจจัยที่ 6 แล้ว ซึ่งสื่อเหล่านี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับเด็ก จากสถิติพบว่า ผู้ปกครองจำนวน 91.1% เริ่มให้ลูกดูโทรทัศน์ตั้งแต่อายุเฉลี่ย 12 เดือน โดยใช้เวลาดูเฉลี่ยวันละ 1.85 ชั่วโมง ในขณะที่ 98% ของเด็กอายุ 6 เดือน มีโอกาสได้ดูโทรทัศน์แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กเริ่มดูโทรทัศน์ตั้งแต่อายุยังน้อย และใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ค่อนข้างมาก หากปล่อยให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามลำพังก็อาจจะเป็นดาบสองคมได้ มาดูกันดีกว่าค่ะว่า ข้อดีและขอ้เสียของสื่อไอทีมีอะไรบ้าง แล้วผู้ปกครองควรจะดูแลลูกอย่างไรในยุคที่มีสื่อไอทีอยู่ใกล้ตัว


ข้อดีของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อพัฒนาการ พฤติกรรมและสุขภาพของเด็กเล็ก

  1. เด็กอายุมากกว่า 2 ปี (เริ่มมีความเข้าใจและให้ความสนใจต่อโปรแกรมต่างๆ ที่ดูทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์) อาจจะช่วยส่งเสริมทักษะทางด้านสังคม ภาษา และทำให้เด็กมีความพร้อมสำหรับการเรียนหนังสือในโรงเรียนมากขึ้นได้หากเลือกโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงซึ่งผลิตขึ้นมาสำหรับให้เด็กดูโดยตรง
  2. โปรแกรมโทรทัศน์ที่มีลักษณะสนับสนุนสังคม (prosocial TV viewing) จะทำให้เด็กมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมทำประโยชน์ต่อส่วนรวมมากเป็น 2 เท่า และพฤติกรรมจิตสาธารณะนี้จะคงอยู่นานกว่าพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่เกิดจากการดูโทรทัศน์ที่มีความก้าวร้าวรุนแรง
  3. เด็กที่ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือวิดีโอเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่มีจิตสาธารณะมากยิ่งขึ้น

> กลับสารบัญ


ผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อพัฒนาการ พฤติกรรมและสุขภาพของเด็กเล็ก

  1. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น
    • Foreground media สื่อที่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้เด็กดูโดยตรง
    • Background media สื่อที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ใหญ่ เด็กเล็กยังไม่สามารถแยกเหตุการที่ดูจากสื่อออกจากเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันได้ เรียกว่า Video Deficit
  2. เด็ก 12-18 เดือนมีแนวโน้มจะเรียนรู้และสามารถจดจำข้อมูลต่างๆ จากเหตุการณ์จริงในชีวิตประจำวันได้มากกว่าเรียนรู้จากโทรทัศน์
  3. เด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนยังไม่สามารถติดตามภาพที่มีการนำเสนออย่างเป็นลำดับขั้นตอนหรือบทสนทนาที่ใช้ในโปรแกรมต่างๆ ได้
  4. ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้เกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็ก คือ เนื้อหาและระยะเวลาของสื่อที่ได้รับ รวมถึงการที่พ่อแม่รับสื่อเหล่านี้ไปพร้อมกับเด็กด้วย
  5. ทุกๆ ชั่วโมงที่เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ดูโทรทัศน์ตามลำพังจะลดโอกาสการเล่นกับพี่น้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ 52 นาทีต่อวัน
  6. เด็กที่อาศัยในครอบครัวที่ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นประจำ ทำให้ผู้ปกครองมีแนวโน้มใช้เวลาอ่านหนังสือกับเด็กหรือเล่านิทานในเด็กฟังลดลงประมาณ 25-38%
  7. สื่อที่ผลิตสำหรับผู้ใหญ่มักจะมีผลเสียต่อเด็กเล็กมากกว่าผลดีและอาจขัดขวางจินตนาการทำให้เด็กไม่สามารถเล่นได้ต่อเนื่อง เพราะวอกแวกหากสนใจดูสื่อขณะที่กำลังเล่นอยู่แม้เป็นเวลาชั่วครู่ก็ตาม
  8. เด็กมีปฏิสัมพันธ์ พูดสื่อสารกับพ่อแม่ลดลง ทั้งๆ ที่เด็กไม่ได้ดูสื่อโดยตรง แต่พ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่สนใจสื่อมากกว่าการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก
  9. ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วัยเด็กเล็กกับพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น ด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา
  10. เด็กที่ดูโทรทัศน์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 เดือน และใช้เวลาดูโทรทัศน์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเพิ่มขึ้น 6 เท่า
  11. พบความสัมพันธ์ระหว่างการดูโทรทัศน์กับระดับสติปัญญาที่ลดลง หรือระดับสติปัญญาของเด็กอายุ 3 ปี ไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์

> กลับสารบัญ


คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเกี่ยวกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเด็กเล็ก

  1. หลีกเลี่ยงให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่วนเด็กอายุมากกว่า 2 ปีไม่ควรได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
  2. ตระหนักถึงผลกระทบของสื่อที่ผลิตสำหรับผู้ใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับสื่อโดยเฉพาะมีเด็กเล็กอยู่ด้วย
  3. ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะโฆษณาว่าเป็นสื่อทางวิชาการและอาจเสริมพัฒนาการ) สามารถส่งเสริมพัฒนาการหรือสติปัญญาของเด็กได้จริง
  4. ตระหนักถึงคุณค่าของการเล่นกับเด็กเล็ก ซึ่งหากเล่นด้วยไม่ได้อาจหาของเล่นต่างๆ ให้เด็กเล่นเองใกล้กับบริเวณที่พ่อแม่ทำงานอยู่ นอกจากนี้ควรมีเวลาคุณภาพที่ปราศจากสื่อในครอบครัวเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการและสติปัญญาที่สมวัย มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดเป็นเหตุเป็นผล
  5. เด็กไม่ควรมีอุปกรณ์สื่ออิเล็คทรอนิกส์เป็นของตัวเอง ควรขออนุญาตพ่อแม่ก่อนใช้งานทุกครั้ง
  6. พ่อแม่ควรได้รับสื่อประเภทต่างๆ ไปพร้อมเด็ก เพื่ออภิปรายเนื้อหาร่วมกัน

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตามคำแนะนำนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถรู้เท่าทันผลกระทบต่างๆ และทราบแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เกิดประโยชน์ คุ้มค่า และหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย