จัดฟันครั้งแรก ควรรู้อะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไรดี

ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม

บทความโดย : ทพ. วุฒิพงษ์ เหล่าอมต

จัดฟันครั้งแรก ควรรู้อะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไรดี

การจัดฟันช่วยแก้ไขปัญหาการเรียงตัวของฟันที่สบกันผิดปกติและเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ให้เรียงตัวได้เป็นระเบียบมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเรื่องปรับรูปลักษณ์โครงหน้าให้เรียวขึ้นในผู้ป่วยบางราย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับใครที่มีปัญหาฟันไม่สวย ฟันเก ฟันซ้อน ฟันห่าง ฟันเหยิน ฟันไม่สบกัน แล้วตัดสินใจว่าต้องการจัดฟัน อยากลองเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ดู แต่เพราะเป็นการจัดฟันครั้งแรก เลยไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน และเตรียมตัวอย่างไรดี ไปหาคำตอบกัน


ก่อนจัดฟันครั้งแรกต้องทำอย่างไร

ก่อนจัดฟันให้ถามตัวเองอีกครั้งว่าพร้อมจัดฟันจริงๆ ไหม เพราะขั้นตอนการจัดฟันต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2 ปี และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีเวลามาพบทันตแพทย์ทุกเดือนหรือมาตามนัด ซึ่งเมื่อตัดสินใจแล้วว่าต้องการจัดฟันแน่นอนแล้ว สำหรับผู้ที่เข้ารับการจัดฟันครั้งแรก ควรเลือกทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันโดยเฉพาะที่ได้รับการรับรองจากสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทันตแพทย์ช่วยพิจารณาวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมในแต่ละบุคคล เพราะปัญหาของฟันในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป รวมไปถึงรูปแบบของการจัดฟันด้วยเช่นกัน เช่น ความจำเป็นจะต้องถอนฟันหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องถอน จะต้องถอนกี่ซี่ หรือบางคนไม่จำเป็นต้องถอน สามารถใช้เครื่องมืออื่นได้ และการจัดฟันนั้นจะต้องประเมินจากโครงสร้างฟันและใบหน้าของแต่ละคน

> กลับสารบัญ


4 ชนิดของการจัดฟัน

4 ชนิดของการจัดฟัน
  • เครื่องมือที่เป็นโลหะ เป็นวิธีเบสิคมาตรฐานในการรักษาและใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้แบรคเกตโลหะ ลวดจัดฟัน และยางโอริงที่มีหลายสี ในการดึงฟันช่วยในการเคลื่อนฟันให้ไปยังตำแหน่งที่ทันตแพทย์จัดฟันต้องการ
  • เครื่องมือแบบเซรามิก โดยมีลักษณะของเครื่องมือคล้ายคลึงกับแบบโลหะ แต่ทำจากวัสดุเซรามิกสีเหมือนฟันทำให้มองเห็นได้ยาก มีการใช้ยางโอริงดึงฟันที่มีสีสันสดใส และลวดที่เป็นสีโลหะเงิน
  • เครื่องมือเดม่อน (Damon) เป็นการจัดฟันด้วยแบรคเกตชนิดดามอนซิสเต็ม ที่มีล็อกในตัวสามารถปิดบานหน้าต่างลงมาล็อกลวดจัดฟันได้ ไม่ต้องใช้ยางรัด มีประสิทธิภาพสูง มีกลไกการบานพับขนาดเล็กที่ยึดกับลวดอย่างหลวม ๆ เพื่อดึงให้ฟันเคลื่อนตัว
  • การจัดฟันแบบใส อินวิสไลน์ (Invisalign) เป็นการจัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ โดยเป็นเครื่องมือจัดฟันแบบกำหนดเองที่ผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษทางการแพทย์ที่ปรับฟันของคุณ ให้ตรงเพื่อแทนที่เครื่องมือจัดฟันโลหะธรรมดา

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนการจัดฟันครั้งแรกเริ่มอย่างไร

หลังจากตัดสินใจจัดฟันแน่นอนแล้ว ขั้นตอนในการจัดฟันจะคล้ายๆ กัน แต่จะแตกต่างกันที่รูปแบบของเครื่องมือที่เลือกใช้ อาทิ การจัดฟันแบบติดเครื่องมือ และ การจัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ แต่การเตรียมตัวก่อนจัดฟันจะคล้ายกัน ดังนี้

  1. ปรึกษากับทันตแพทย์ เข้ามาเข้าพูดคุย ปรึกษากับทันตแพทย์จัดฟันโดยตรงว่าต้องการจัดฟันเพื่อแก้ปัญหาอะไรบ้าง พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดฟันในแต่ละวิธีการให้ทราบ เพื่อให้ตัดสินใจว่าแบบไหนตรงความต้องการ
  2. ตรวจวินิจฉัยปัญหาของฟัน ทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพช่องปาก สุขภาพของเหงือกว่าสามารถจัดฟันได้หรือไม่ พร้อมทั้งซักประวัติสุขภาพ เช่น มีโรคประจำ ประวัติการแพ้ยา ประวัติการแพ้ดลหะ พลาสติก หรือยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันว่ามีหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
  3. วางแผนการจัดฟัน เมื่อวิธีการจัดฟันที่เหมาะกับตนเองได้แล้ว ทันตแพทย์จัดฟันจะแจ้งขั้นตอนของการจัดฟัน ระยะเวลาในการติดเครื่องมือเบื้องต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา จากนั้นจะพิมพ์ฟันหรือสแกนฟันและเอกซเรย์ ตรวจรูปหน้า เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างกระดูกใบหน้า ขากรรไกรบน-ล่าง และลักษณะของฟัน ดูการสบของฟัน และออกแบบการจัดฟัน การเคลื่อนฟัน เพื่อให้เข้ารูปสวยงาม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. เคลียร์ช่องปากให้พร้อมสำหรับการจัดฟัน ทันตแพทย์จะทำการเคลียร์ช่องปากโดยละเอียด และทำความสะอาดฟัน โดยการขูดหินปูน ขัดฟัน หากพบฟันผุ จะต้องทำการรักษาโดยการอุดฟันหรือรักษารากฟันก่อนจัดฟัน หากพบการอักเสบใดๆ จะหาสาเหตุและรักษาก่อนเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง
  5. เริ่มต้นจัดฟัน โดยจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
    • จัดฟันแบบติดเครื่องมือ ทันตแพทย์จัดฟันจะติดเครื่องมือบนผิวฟัน แล้วนัดมาปรับเครื่องมือเป็นระยะๆ ตามชนิดของเครื่องมือ เช่น หากจัดฟันแบบโลหะ จะนัดผู้จัดฟันมาปรับเครื่องมือทุกๆ 4 สัปดาห์ หากจัดฟันแบบเดมอน ผู้จัดฟันจะมาปรับเครื่องมือทุก 2-3 เดือนครั้ง เป็นต้น
    • จัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ โดยการจัดฟันแบบใส Invisalign ผู้จัดฟันจะเข้าพบทันตแพทย์จัดฟันเพื่อรับอุปกรณ์จัดฟันแบบใส Invisalign ชุดแรก รับฟังคำอธิบายวิธีการใส่และการดูแลเครื่องมือ จากนั้นทางโรงพยาบาลจะเตรียมเครื่องมือในชุดอื่นให้ในการพบทันตแพทย์จัดฟันในครั้งต่อไป ผู้จัดฟันควรจะต้องมาให้ตรงตามนัด เพื่อให้แผนการรักษาไม่คลาดเคลื่อน
  6. นัดถอดเครื่องมือ เมื่อแผนการจัดฟันเป็นไปตามที่วางไว้ ทันตแพทย์จัดฟันจะนัดถอดเครื่องมือจัดฟัน และจะให้ใส่รีเทนเนอร์แทน โดยผู้จัดฟันจะต้องใส่ต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฟันคงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องสวยงามตลอดไป ทั้งนี้อาจจะมีการนัดติดตามการใส่รีเทนเนอร์ทุกๆ 3 - 6 เดือน และทุกๆ 1 ปี

> กลับสารบัญ


จัดฟันครั้งแรกที่ไหนดี

การเลือกทันตแพทย์ การเลือกสถานที่สำหรับจัดฟัน มีความสำคัญมากต่อผลการจัดฟัน อย่าลืมว่าการจัดฟัน ไม่เหมือนการรักษาทางทันตกรรมอย่างอื่น ทั้งนี้เพราะการจัดฟัน เป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผล แล้วจะจัดฟันที่ไหนดีนั้น ที่ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลนครธน มีวิธีการจัดฟันให้เลือกหลายแบบ ทั้งการจัดฟันใส Invisalign การจัดฟันแบบเดมอน การจัดฟันแบบโลหะ พร้อมด้วยทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันโดยเฉพาะ ที่ได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญจากทั้งทันตแพทยสภา และสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ที่คุณสามารถเข้ามารับคำปรึกษาการจัดฟันได้อย่างเป็นกันเองกับแพทย์ พร้อมตอบทุกคำถาม ทุกข้อสงสัย เพื่อหาแผนการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลอย่างดีที่สุด จึงสามารถเชื่อมั่นและเชื่อใจในแพทย์ของรพ.ได้่

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้ในระหว่างการจัดฟัน การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเป็นสิ่งที่จำเป็น แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ ผู้ที่จัดฟันแบบเครื่องมือติดแน่นต้องหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง กรอบ เหนียว ตลอดระยะเวลาจัดฟัน เพื่อป้องกันเครื่องมือจัดฟันหลุด



ทพ.วุฒิพงษ์ เหล่าอมต ทพ.วุฒิพงษ์ เหล่าอมต

ทพ.วุฒิพงษ์ เหล่าอมต
ทันตกรรมทั่วไป/ทันตกรรมจัดฟัน
ศูนย์ทันตกรรม

นัดหมายแพทย์

ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย