“จี้หัวใจ” รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

จี้ไฟฟ้าหัวใจ

การจี้หัวใจ หรือ จี้ไฟฟ้าหัวใจผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น หัวใจเต้นสะดุด หรือบางครั้งหัวใจจะเต้นช้าเหมือนกับหัวใจหยุดเดินไป 1-2 จังหวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะเพราะเต้นเร็วเกินไป ในบางรายมีอาการใจหวิว วูบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการเป็นลม หมดสติ เหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลจากการผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษาา




สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือ ภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจพบอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหงื่อออกมาก วิงเวียน หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม เป็นต้น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคหัวใจ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ รวมถึงภาวะโรคเรื้อรังที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา

> กลับสารบัญ


ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่มักไม่ค่อยรู้ตัว จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่คงที่ไม่แน่นอน แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนี้

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG หรือ EKG) เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ หรือตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว
  2. การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อย แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์
  3. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ
  4. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) หาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก

> กลับสารบัญ


ประเภทของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะมีการเต้นผิดจังหวะที่แตกต่างกัน แต่สามารถรักษาได้ด้วยการจี้หัวใจ เช่น

1. ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด PVC (Premature ventricular contraction) เกิดจากหัวใจห้องล่างเกิดการบีบตัวก่อนเวลาที่ควรจะเป็น โดยทั่วไปแล้วเมื่อหัวใจห้องล่างโดนกระตุ้นไปแล้วจะต้องรอกระแสไฟฟ้ารอบใหม่จากหัวใจห้องบน (SA node) ในระหว่างที่รอนั่นเอง กลับมีกระแสไฟฟ้าแปลกปลอมที่ไม่ได้มาจากหัวใจห้องบน แต่มาจากหัวใจห้องล่างแทน ทำให้หัวใจถูกกระตุ้นให้มีการบีบตัวหรือเต้นก่อนเวลาที่ควรจะเป็น มักทำให้มีอาการใจสั่นเหมือนหัวใจจะกระโดด หัวใจเต้นสะดุด เต้นไม่สม่ำเสมอ

2. ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT) เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบน ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที มักอยู่ในช่วง 150-250 ครั้งต่อนาที มีจังหวะการเต้นของหัวใจที่เร็วและสม่ำเสมอ เกิดขึ้นและหายเองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการใจสั่นคล้ายจะเป็นลม หัวใจบีบตัวแรงในบางจังหวะ และมีอาการเหนื่อยทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่เฉยๆ รู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลียหมดแรง ไม่อยากทำอะไรและอยากนอนตลอดเวลา

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การจี้หัวใจ รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในกรณีที่หัวใจยังทำงานเป็นปกติ สามารถรักษาให้หายได้ โดยแพทย์จะให้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลจากการผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา

โดยวิธีการคือ แพทย์จะทำการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ (เช่นเดียวกับการตรวจสวนหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี) สายสวนหัวใจชนิดพิเศษดังกล่าวจะมีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย จึงสามารถบันทึกกระแสไฟฟ้าในหัวใจ แสดงให้เห็นบนจอ Monitor ซึ่งแพทย์จะขยับสายสวนหัวใจดังกล่าวไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ อาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที คลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 55 องศา ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิของน้ำอุ่น

การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ในบางกรณีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลม หรือเหนื่อยง่าย สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) หรือในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วอย่างมาก เช่น Ventricular Tachycardia, Ventricular Fibrillation สามารถรักษาได้โดยการฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator)

> กลับสารบัญ


การเตรียมตัวก่อนทำหัตถการจี้หัวใจ

ก่อนการทำหัตถการจี้หัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง ผู้ป่วยจะต้องงดรับประทานยาต้านการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างน้อย 3 วัน หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และให้นำยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำมาด้วยในวันทำหัตถการ งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในวันทำการรักษาควรนำญาติมาด้วยเพื่อร่วมตัดสินใจในการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมผิวหนังบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้างหรือคอด้านขวาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์จะใส่สายสวน รวมทั้งจะได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำบางรายจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะด้วย

> กลับสารบัญ


การปฏิบัติตัวหลังการทำหัตถการจี้หัวใจ

หลังทำการรักษาเสร็จเรียบร้อยผู้ป่วยจะต้องพักอยู่ที่ห้องพักฟื้น 1 คืนเพื่อรับการติดตามดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อถึงห้องพักต้องนอนราบห้ามงอขาข้างที่ทำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการมีเลือดออกและมีก้อนเลือดได้ผิวหนัง หากมีอาการแน่นหน้าอกเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ เวียนศีรษะ มีไข้และรู้สึกอุ่นๆ ขึ้น ๆ หรือพบว่ามีเลือดออกหรือมีก้อนเลือดใต้ผิวหนังบริเวณแผลขาหนีบ ควรแจ้งให้แพทย์พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทราบทันที วันรุ่งขึ้นถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้

> กลับสารบัญ



รูปแบบของการจี้ไฟฟ้าหัวใจ

  1. การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 2 มิติ เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจรวมถึงตำแหน่งที่ผิดปกติแล้วทำการรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยจะแสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ และสามารถทำการรักษาได้ทันทีหลังจากการตรวจวินิจฉัยแล้วพบความผิดปกติ ส่วนใหญ่จะใช้ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด SVT หรือโรคหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT)
  2. การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ แบบ CARTO (CARTO System) เป็นการตรวจประเมินหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ โดยแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ พร้อมใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติของการเต้นของหัวใจและการลัดวงจรที่เกิดขึ้นด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งการใช้คลื่นวิทยุซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนขึ้นภายในห้องหัวใจ โดยที่จะใช้สายสวนนำสัญญาณใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วยผ่านบริเวณขาหนีบไปยังหัวใจเพื่อทำการจี้ทำลายวงจรที่ผิดปกติ มีข้อดี คือ ให้การรักษาที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น วิธีนี้สามารถใช้รักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีจุดกำเนิดเป็นบริเวณกว้างหรือมีความซับซ้อน เช่น ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด PVC (Premature ventricular contraction), ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว AF (Atrial Fibrillation) และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ WPW (Wolff-Parkinson-White Syndrome) เป็นต้น
  3. การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ แบบเย็นจัด (Cryoablation) เป็นเทคโนโลยีในปัจจุบันที่จะมีการใช้พลังงานความเย็น เข้ามาใช้แทนการจี้แบบเดิม ขั้นตอนรักษาก็จะคล้ายกับวิธีแบบ CARTO คือใช้สายนำสัญญาณใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย แต่จะใช้พลังงานความเย็นเพื่อจี้ทำลายวงจรที่ผิดปกติแทนพลังงานความร้อน สามารถรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ได้แก่ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว AF (Atrial Fibrillation) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ WPW (Wolff-Parkinson-White Syndrome) ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC เป็นต้น โดยข้อดีของการจี้ไฟฟ้าหัวใจแบบเย็นจัด (Cryoablation) ได้แก่
    • ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาลดลง เช่น จากปกติการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง อาจใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
    • ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างได้
    • ไม่มีอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน เนื่องจากการจี้แบบปกติจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่เนื้อเยื่อโดยรอบหัวใจได้เพราะใช้พลังงานความร้อน แต่การใช้ความเย็นเพื่อจี้แบบเย็นจัด นั้นจะไม่เกิดผลข้างเคียงเหล่านี้

> กลับสารบัญ


ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรมีการดูแลรักษาตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น สูบบุหรี่. ดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ชากาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน พร้อมควบคุมอารมณ์ไม่ให้เครียด ประจำตัว เพราะความเครียดจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น รวมทั้งควบคุมภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคประจำตัว และหากรู้สึกว่ามีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในช่วงที่มีอาการทันที เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วไม่ส่งผลต่ออันตราย


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย