ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ หาความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบ
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการสะสมของคราปหินปูนไปเกาะเส้นเลือดแดงจนอาจเกิดการอุดตันส่งผลให้หลอดเลือดตีบ ทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงหรือไม่เพียงพอ ซึ่งไม่มีใครรู้ได้เลยว่า คราบหินปูนเหล่านี้จะเริ่มก่อตัวขึ้นภายในหลอดเลือดของเราเมื่อใด กว่าจะรู้ส่วนใหญ่มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ชัดเจน หรือยิ่งไปกว่านั้นก็อาจพบหลังประสบภาวะหัวใจวายไปแล้ว การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium score) จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เรารู้ทัน และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium score)
การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) และคำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง ภาพที่ได้จากการตรวจจะคมชัด เนื่องจากเครื่องมือที่มีความเร็วในการจับภาพสูงมาก สามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต้นได้ดี และสามารถบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ แม้จะมีปริมาณน้อย เพื่อใช้บ่งบอกแนวโน้มถึงโอกาสในการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจว่ามีมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีคราบหินปูนที่หลอดเลือดหัวใจ
การแปลผลปริมาณหินปูนมีความสัมพันธ์กับโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โดยใช้การแปลผลจากคะแนน ดังนี้
- ผลการตรวจ CT Calcium Score ได้ค่า 0 หมายความว่า ไม่มีคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงหัวใจ
- ผลการตรวจ Calcium Score 1-100 หมายถึง มีคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงหัวใจน้อย โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำ
- ผลการตรวจ Calcium Score 101-400 หมายถึง มีคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงหัวใจปานกลาง มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- ผลการตรวจ Calcium Score ได้ค่าตั้งแต่ 401 ขึ้นไป อาจมีภาวะหลอดเลือดตีบแอบแฝงอยู่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบสูงมาก อาจเกิดภายในระยะเวลา 2-5 ปี แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม
ข้อดีของการตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ
การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ ไม่ต้องออกกำลัง เพียงนอนเฉยๆ ผ่านเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องฉีดสีคือให้น้ำเกลือ ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และเป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งผู้ตรวจได้รับรังสีในปริมาณน้อยมาก
ใครบ้างที่ควรตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ?
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางของการเกิดโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง อ้วน
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่สูบบุหรี่
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
- ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนรับการตรวจ
- หลีกเลี่ยงยาที่จะกระตุ้นหัวใจให้ชีพจรเร็วขึ้น
- งดชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
- งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดคลุมของโรงพยาบาล
- ถอดเครื่องประดับรอบคอหรือแผ่นต่างๆ ที่ติดบริเวณหน้าอก
นอกจากการตรวจเช็คสุขภาพหัวใจและการเพื่อดูระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดแล้ว การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อให้ทราบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขนาดไหน โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เพราะหากตรวจพบได้เร็ว แพทย์จึงสามารถใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย เพื่อตัดสินใจให้การรักษาอย่างเหมาะสม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ