ต่อมลูกหมากโต ภัยร้ายของชายวัย 50+ที่ไม่ควรมองข้าม
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม
ปวดฉี่กลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง ฉี่ไม่สุด ฉี่ไม่พุ่ง กลั้นฉี่ไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนของโรคต่อมลูกหมากโต โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี จนกระทั่งอายุประมาณ 45 ปี จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งเกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่และทำให้เกิดความผิดปกติต่อทางเดินปัสสาวะ มักพบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไปพบมากถึง 80%
สารบัญ
โรคต่อมลูกหมากเป็นอย่างไร
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น หน้าที่สำคัญคือ ผลิตของเหลวเป็นตัวหล่อลื่นและนำส่งเชื้ออสุจิในขณะที่มีการหลั่งของน้ำอสุจิออกมา
โรคต่อมลูกหมากโต หรือ BPH (Benign Prostate Hyperplasia) ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าหนักใจของคุณผู้ชายทั้งหลาย โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตจะอยู่ในช่วงอายุ 45 - 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะค่อยๆ โตขึ้น ในช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลง ซึ่งปกติเพศชายเมื่ออายุ 20 ปี จะมีขนาดของต่อมลูกหมาก ประมาณ 20 กรัม แต่จะค่อยๆ โตขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
ดังนั้น เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นก็อาจกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบเล็กลง ส่งผลให้คนไข้มีอาการปัสสาวะติดขัด นอกจากนี้ต่อมลูกหมากโตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้น เนื่องจากต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านท่อแคบ ๆ และซึ่งบางครั้งเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะลดลง จึงต้องปัสสาวะบ่อย และอาจได้รับการกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหันได้
อาการของโรคต่อมลูกหมากโต
อาการของโรคต่อมลูกหมากโตที่สำคัญมีอยู่ 7 อย่างคือ
- ลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะกลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง
- ปัสสาวะไม่พุ่ง เป็นลำ ไหลช้า หรือไหลๆ หยุดๆ
- เกิดความรู้สึกว่าการขับถ่ายปัสสาวะเป็นเรื่องวุ่นวายในชีวิตประจำวัน
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ จะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ
- ต้องเบ่งหรือรอนานกว่าจะสามารถปัสสาวะออกมาได้
- รู้สึกปัสสาวะไม่สุด ทำให้อยากปัสสาวะอยู่เรื่อยๆ
- ปัสสาวะบ่อย ห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง
โรคต่อมลูกหมากโตอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้แก่ ปัสสาวะไม่ออกเลย ทางเดินปัสสาวะอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไตเสื่อมหรือกระเพาะปัสสาวะเสื่อม ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น ซึ่งอาจพบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของผู้ป่วยต่อมลูกหมากทั้งหมด
การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
- ตรวจสอบร่างกายและซักประวัติคนไข้โดยละเอียด
- การตรวจต่อมลูกหมากทางท่อทวารหนัก “ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) เพื่อดูลักษณะผิดปกติและความแน่นของเนื้อต่อมลูกหมาก
- ทำการทดสอบเพื่อวัดอัตราการไหลของปัสสาวะ
- ตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ
- วัดปริมาณปัสสาวะที่เก็บอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- อัลตราซาวด์ขนาดต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลง
- เจาะ PSA เพื่อแยกโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
สำหรับโรคต่อมลูกหมากโตนั้น ส่วนมากมักจะมีต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้น การรักษาจะมุ่งเน้นที่จะให้อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีวิธีการรักษาแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้
วิธีแรก: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีการรักษาเริ่มแรกแพทย์จะให้ปรับพฤติกรรมเสียก่อน เช่น ในรายที่เป็นไม่มาก อาจให้ลดการดื่มน้ำลงในช่วงเวลากลางคืน ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ถ้าอาการดีขึ้นไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยยาต่อไป
วิธีที่สอง: การใช้ยา
สำหรับการรักษาด้วยยา แพทย์อาจจะสั่งยาบางชนิดให้ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้มีลักษณะอ่อนตัวลง (Alpha-Blockers) ซึ่งจะช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากให้มีขนาดเล็กลง แต่ถ้าในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน หรือในรายที่เป็นมากๆ แต่อยู่ในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมแต่ละอาการของแต่ละบุคคล
วิธีที่สาม: การผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อขูดตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate-TURP) เป็นการผ่าตัดที่นำเอาบางส่วนของต่อมลูกหมากที่ขวางท่อทางเดินปัสสาวะออกมา โดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะจากแพทย์จะใช้วิธีตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อตัดและหยุดเลือดออกไปได้พร้อมกัน
ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเมื่อละเลยการรักษาที่ถูกต้อง
- ปัสสาวะไม่ออกทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป
- ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากต่อมลูกหมากบวม
- กระเพาะปัสสาวะครากหรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การทำงานของไตเสื่อมลง และไตวายได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แพทย์เน้นย้ำคือชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาในระดับต้นตอสาเหตุ และอย่าละเลยการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้รักษามีประสิทธิภาพสูงสุดทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีขึ้นดังเดิม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม