บิดผ้า ทำสวน ยกของหนักมาไป ระวัง! โรค ‘พังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือ’ ถามหา
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
เชื่อไหมว่าพ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายที่ใช้ข้อมือทำงานบ้านเป็นประจำ ไม่ว่าจะยกของหนัก บิดผ้า ซักผ้าด้วยมือ ทำสวน หรือแม้กระทั่งการทำงานอดิเรกด้วยการถักไหมพรม อาจเสี่ยงเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือได้! ฉะนั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ เราไปทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวให้มากขึ้นกันดีกว่า
โรคพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือ คืออะไร?
โรคพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือ (Dequevain's disease) หรือ "เอ็นข้อมืออักเสบ" คือการอักเสบและตีบแคบของปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อ บริเวณข้อมือฝั่งโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยทั่วไปแล้วจากโครงสร้างข้อมือเราจะมีเส้นเอ็นสองเส้นที่บังคับการทำงานของนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งจะวิ่งในปลอกหุ้มเอ็น เอ็นจะมีเยื่อหุ้มเอ็นซึ่งจะทำหน้าที่ทำให้เอ็นเคลื่อนในปลอกลื่นไหล เมื่อปลอกหุ้มเอ็นอักเสบหรือบวมและเกิดการกดเบียดเส้นเอ็นจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด
สาเหตุการเกิดพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือ
เกิดจากการใช้งานบริเวณข้อมือและนิ้วหัวแม่มือในลักษณะซ้ำๆ เช่น การหยิบสิ่งของต่างๆ การบิดผ้า ทำสวน ถักไหมพรม ยกของหนัก รวมถึงไปถึงผู้ที่ประกอบอาชีพช่างไม้และนักดนตรีก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน โดยโรคพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือพบได้ทั้งชายและหญิง เป็นได้ทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงอายุ 30-50 ปี กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น
อาการของโรคพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือ
ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดหรือเจ็บบริเวณข้อมือฝั่งโคนนิ้วหัวแม่มือ อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือทันที อาการปวดจะร้าวไปที่แขนและจะปวดมากโดยเฉพาะเวลาหยิบจับสิ่งของหรือใช้งานนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งอาจจะมีอาการบวมบริเวณเอ็นตรงโคนนิ้วหัวแม่มือ อาจจะชาด้านหลังนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
การรักษาโรคพังผืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือ
- พักการใช้งาน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้นิ้วหัวแม่มือ
- การใช้เฝือกอ่อนหรืออุปกรณ์พยุงข้อมือ ตามโคนนิ้วหัวแม่มือ
- ใช้ยาลดอาการปวดและลดการอักเสบ เช่น การใช้ยา NSAID
- การประคบร้อน ประคบเย็น การใช้ Ultrasound
- ฉีดสเตียรอยด์ (Steroid)
- การผ่าตัดจะทำในรายที่อาการปวดไม่ทุเลา ซึ่งจะตัดแยกปลอกหุ้มเอ็น
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ