ปวดชาตามมือ เสี่ยง พังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. เกรียงศักดิ์ พิทักษ์อวกาศ

พังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ

พังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือสามารถเป็นได้ทุกคนแต่มักพบบ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ที่ต้องใช้มือทำงานเป็นประจำทุกวัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดชาตามมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง อาการเริ่มแรกมักจะเป็นในตอนกลางคืน โดยมีอาการปวดชามือจนต้องตื่นขึ้นกลางดึก หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณมือไม่ทำงาน และทำให้ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ในที่สุด


พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือเกิดจากอะไร

พังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (carpal tunnel syndrome) เป็นภาวะที่มีเส้นประสาทมีเดียนอยู่ช่วงบริเวณข้อมือตีบแคบลงจากการหนาตัวของเยื่อหุ้มเอ็น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและชาตามนิ้ว มักพบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น

> กลับสารบัญ


อาการพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

  • อาการปวดชานิ้วมือ โดยเฉพาะ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง
  • อาการปวดชามักเป็นมากในเวลากลางคืน โดยบ่อยครั้งที่ต้องตื่นกลางดึกเพื่อสะบัดมือให้หายชา
  • อาการปวดชามักจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • บางครั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น นิ้วมือไม่ค่อยมีแรง หยิบจับของแล้วหลุดออกจากมือ

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ระยะของพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

  • ระยะแรก: ผู้ป่วยจะมีอาการปวดชานิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะที่ต้องทำงานใช้มือ อาการปวดชาบางครั้งเป็นตอนกลางคืนจนตื่นขึ้นกลางดึก เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นบางครั้งจะหนาตัวมากขึ้นในตอนกลางคืน
  • ระยะสอง: ผู้ป่วยจะมีอาการปวดชาตลอดเวลาแม้อยู่ในช่วงพัก
  • ระยะสาม: ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานาน และจะไม่สามารถใช้งานข้อมือได้ตามปกติ

> กลับสารบัญ


พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือตรวจได้อย่างไร

การวินิจฉัยภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทจะได้จากการซักประวัติตรวจร่างกาย อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีไฟฟ้าวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะทำการประเมินอาการและวิธีการตรวจตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละราย

> กลับสารบัญ



พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือรักษาอย่างไร

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือในระยะต้น ได้แก่
    • พักการใช้งานมือ บางครั้งแพทย์อย่างใส่เฝือกหรืออุปกรณ์ช่วยผยุงเพื่อให้มือข้างนั้นทำงานน้อยลง
    • ใช้ยาต้านการอักเสบเพื่อให้เยื่อหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือยุบบวมลง
    • ใช้ยาฉีดลดปวดเฉพาะจุด (Kenacort) เป็นยาฉีดในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและข้อต่อในร่างกาย ยานี้ถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการปวดเฉพาะจุด โดยเฉพาะในกรณีที่การใช้ยาบรรเทาอาการปวดทั่วไปอาจไม่สามารถช่วยได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้เยื่อหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือยุบบวมลง ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นโดยไม่เจ็บปวด
    • การทำกายภาพบำบัด
  2. การรักษาแบบผ่าตัด ในกรณีที่รักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือรุนแรง จนกล้ามเนื้อฝ่อลีบ แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัด

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งในโรงพยาบาลและช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย