ปวดหลังส่วนล่าง อาการบ่งชี้โรคสำคัญที่ไม่ควรละเลย

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง, ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย :

ปวดหลังส่วนล่าง อาการบ่งชี้โรคสำคัญที่ไม่ควรละเลย

อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) หมายถึง อาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังตึงหรือมีอาการหลังแข็ง ในตำแหน่งตั้งแต่หลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น โดยบางกรณีจะมีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ขา ซึ่งปัญหาสำคัญของอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ อาการปวดและการไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ


ปวดหลังส่วนล่างคืออะไร

อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) เป็นหนึ่งในอาการปวดหลังที่พบได้บ่อย หมายถึง อาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังตึงหรือมีอาการหลังแข็ง ในตำแหน่งตั้งแต่หลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น โดยบางกรณีจะมีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ขา ซึ่งปัญหาสำคัญของอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ อาการปวดและการไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ โดยอาการปวดหลังส่วนล่าง เกิดได้ทั้งจากการเสื่อมและโรคของกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยการเสื่อมเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดปุ่มกระดูกงอกเล็กๆ ซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังที่เสื่อมถอยส่งผลให้เกิดการเบียดกดประสาทไขสันหลังช่วงล่าง ทำให้เกิดการเสื่อมถอยของเซลล์ต่างๆ เกิดได้ง่ายเมื่อมีอายุมากขึ้น


อาการปวดหลังสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้ 3 ประเภท ได้แก่

  1. อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
  2. อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน (Subacute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน
  3. อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน

สาเหตุอาการปวดหลังส่วนล่าง

อาการปวดหลังส่วนล่างส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคของหลังซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

  • โรคของเอ็นและกล้ามเนื้อหลัง
  • โรคความเสื่อมข้อติดกระดูกสันหลัง
  • โรคของหมอนรองกระดูก
  • โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ
  • โรคเกี่ยวกับการผิดรูปของกระดูกสันหลัง
  • โรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ
  • โรคการอักเสบที่ไม่ใช่ติดเชื้อ
  • โรคมะเร็งซึ่งรวมทั้งมะเร็งของกระดูกสันหลัง และ มะเร็งแพร่กระจาย มาที่กระดูกสันหลัง
  • โรคที่เกิดจากอุบัติเหตุของกระดูกสันหลัง

อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังส่วนล่างอาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะภายใน และอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงสาเหตุทางจิตใจ ดังนั้น หากตรวจวินิจฉัยแล้วไม่พบสาเหตุจากโรคเกี่ยวกับหลัง อาจจะต้องพิจารณาการตรวจวินิจฉัยสาเหตุอื่น ๆ แบบแยกโรค


โรคที่พบได้บ่อยเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง

  1. โรคเอ็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute back strain) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์ อาการที่พบจะปวดหลังแต่ไม่ร้าวไปที่ขา สาเหตุเพราะกล้ามเนื้อหลังแข็งและเกร็งทำให้แนวแอ่นตัวของหลังหายไป เมื่อกดกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลังจะรู้สึกเจ็บ ลักษณะอาการดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะการเกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุ
  2. โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Lumbar disc herniation) พบในผู้ป่วยอายุน้อยไม่เกิน 50 ปี มักเป็นแบบเฉียบพลัน ภายหลังการยกของหนักหรือหมุนตัวผิด ทำให้มีหมอนรองกระดูกแตกออกไปทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา อาจตรวจพบอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาท L4, L5, S1 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบบ่อย
  3. โรคช่องบรรจุไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis) อาการปวดหลังและขาในผู้ป่วย จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งใช้เวลาเป็นปี อาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างและมีการร้าวไปที่ก้น ต้นขาและน่อง มีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาและมีอาการน่องชาหรือไม่มีแรงเมื่อมีการเดินไกล แต่เมื่อนั่งพักเพียงไม่กี่นาทีอาการก็จะดีขึ้นและสามารถเดินต่อไปได้อีก

การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (Radiographic Investigation)

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างไม่มีความจำเป็นที่ต้องรับการตรวจภาพถ่ายทางรังสีทุกราย โดยเฉพาะผู้ป่วยซึ่งเพิ่งมีอาการมาไม่นานและไม่รุนแรง ซึ่งภาพถ่ายทางรังสีแต่ละชนิดจะให้ข้อมูลและประโยชน์กับผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างต่างกันไป เช่น

  1. Plain radiograph การ x-ray ธรรมดา เป็นขั้นแรกที่ควรส่งตรวจเนื่องจากสะดวกและราคาถูก สามารถให้ข้อมูลได้พอสมควร โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่มีลักษณะผิดรูปต่าง ๆ แต่ไม่สามารถดูความผิดปกติของหมอนรองกระดูก เส้นประสาทและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
  2. Myelography คือ การใช้เข็มแทงเข้าไปในโพรงไขสันหลังแล้วฉีดสารทึบรังสี จากนั้นจึงถ่ายภาพ x-ray ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลงเนื่องจากมี MRI เข้ามาแทนที่และสามารถดูได้ชัดเจนกว่า
  3. Computer Tomography (CT Scan) ภาพถ่ายทางรังสีด้วยวิธี CT Scan ใช้ดูโครงสร้างของกระดูกคล้ายกับการดู Plain film แต่มีความละเอียดกว่ามาก และมีการตัดภาพของแต่ละส่วนในระนาบต่าง ๆ ทำให้เห็นพยาธิสภาพของกระดูกได้ชัดเจนนอกจากนี้ยังสามารถประมวลภาพในแต่ละระนาบทำให้เกิดเป็นรูปสามมิติซึ่งหมุนดูได้ทุกด้าน อย่างไรก็ตามข้อเสียของ CT Scan คือการดูเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรวมถึงหมอนรองกระดูกจะมีความคมชัดน้อยกว่า MRI
  4. Magnetic Resonance Imaging (MRI) การถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยการ x-ray คลื่นสนามแม่เหล็ก เป็นการส่งตรวจที่ให้ความละเอียดสูงสุดและสามารถให้มุมมองภายในของกระดูกสันหลังในทุกระนาบ สามารถดูได้ทั้งหมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นประสาท กระดูก น้ำไขสันหลัง รวมทั้งสามารถบอกพยาธิสภาพได้ เช่น มีการอักเสบ หนอง เลือด เป็นต้น ดังนั้นการตรวจ MRI จึงเป็นการตรวจที่ดีที่สุดในการค้นหาความผิดปกติและช่วยวินิจฉัยโรคที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลัง

การรักษาและการป้องกัน (Treatment and prevention)

เนื่องจากสาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่างมีหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละโรคจะมีการรักษาที่เฉพาะของแต่ละโรค ในที่นี้จะกล่าวถึงการรักษาโดยรวมในการดูแลผู้ป่วยปวดหลังและการส่งต่อ ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างมีจุดมุ่งหมายดังนี้

  • ลดอาการปวดของผู้ป่วย ให้สามารถขยับตัวได้เป็นปกติและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม
  • ป้องกันการเกิดซ้ำของโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากการใช้งานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

การรักษา

  1. ให้ผู้ป่วยนอนพัก จากการศึกษาพบว่าการนอนพักเพียง 2-3 วัน จะให้ผลการรักษาดีกว่าการนอกพักยาว 1 สัปดาห์
  2. เมื่อผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นควรให้มีการขยับตัว ลุกนั่ง และยืน โดยหลีกเลี่ยงการก้มของหลัง โดยช่วงนี้อาจให้ผู้ป่วยใช้ผ้าคาดเอว
  3. การให้ยาแก้ปวดผู้ป่วย เช่น ยา Paracetamol แม้จะออกฤทธิ์ได้สั้นและมีฤทธิ์น้อยแต่ก็สามารถใช้ได้ดีและปลอดภัย ยาต้านการอักเสบ non-steroidal, anti-inflammatory drugs (NSAIDs) สามารถลดอาการปวด ลดอักเสบได้ดีมาก แต่ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงด้วย ซึ่งควรเลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย โรคประจำตัวของผู้ป่วย เป็นต้น
  4. การส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด สามารถลดอาการปวดเฉียบพลันซึ่งมีหัตถการทางกายภาพหลายอย่างในการลดปวด เช่น ultrasound, short wave, TENS, electro-acupuncture, traction, and manipulation เป็นต้น
  5. การให้ความรู้กับผู้ป่วยเกี่ยวกับการเดินการยืน ท่าทางในการก้มลงยกของ ซึ่งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำของอาการปวดหลัง ร้อยละ 80-90 สามารถรักษาให้หายด้วยการรักษาแบบประคบประคอง ด้วยการทานยาและกายภาพบำบัดแต่ถ้ารักษาแบบประคับประคองไม่หาย อาจต้องกลับมารับการพิจารณาเพื่อรับการรักษาต่อไป

ทั้งนี้อาการปวดหลังส่วนล่าง ถือว่าเป็นอาการปวดที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางกระดูกสันหลัง จากกล้ามเนื้อหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง และจากข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยจะมีอาการปวดหลังบริเวณหลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น แต่หากมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดรุนแรง มีปวดร้าวไปที่ขาหรือเท้า มีอาการแสบร้อนหรือยืนหรือเดินไม่ได้ อาการเหล่านี้ คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังส่วนล่างธรรมดา เพราะอาการปวดหลังนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติหรือโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย