ผู้สูงอายุสุขภาพดี เริ่มที่การดูแลสุขภาพช่องปาก
ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม
บทความโดย : ทพญ. ปรรฐวีร์ บารมีพิพัฒน์
การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพร่างกาย และการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เพราะสุขภาพช่องปากที่ดีจะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่มีอาการเจ็บปวด ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปสู่ระบบอื่น เช่นระบบหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ซึ่งหากไม่ดูแลรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากจนทำให้เจ็บปวด สูญเสียฟัน ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารลดลง นำไปสู่การรับประทานอาหารได้น้อยลง จนร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ
สารบัญ
อุปกรณ์ในการดูแลช่องปาก
แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มและปลายมน ยาสีฟันที่ไม่มีสารก่อฟอง (SLS) และมีฟลูออไรด์ไม่น้อยกว่า 1000 ppm และอาจมีน้ำยาบ้วนปากสูตรผสมฟลูออไรด์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แก้วน้ำ ขันน้ำหรือกะละมังใบเล็กหรือชามรูปไต ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน แปรงกระจุกเดียว สารให้ความชุ่มชื้น กล่องหรือถ้วยสำหรับแช่ฟันเทียมในผู้สูงอายุที่มีฟันเทียม เป็นต้น
การทำความสะอาดช่องปากในผู้สูงอายุ
1. ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้
ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้จะสามารถใช้มือ และควบคุมการกลืนได้ดี สามารถทำความสะอาดช่องปากเหมือนกับกลุ่มวัยอื่นๆ โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุแปรงฟันวันละ 2 ครั้งๆ ละ 2 นาที เพื่อประสิทธิภาพของฟลูออไรด์ในยาสีฟัน และบ้วนปากโดยให้บ้วนยาสีฟันทิ้ง โดยไม่ต้องกลั้วน้ำ หรือกลั้วน้ำเพียง 1-2 ครั้ง (ประมาณ 1-2 อุ้งมือ) เพื่อให้คงเหลือฟลูออไรด์อยู่ในช่องปาก นอกจากนี้ยังแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันที่เหมาะสม และแปรงลิ้นด้วยทุกครั้ง
ขั้นตอนการทำความสะอาดช่องปากสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้
- แปรงฟันให้ครบทุกด้านและทุกซี่ โดยขณะแปรงด้านนอกหรือด้านกระพุ้งแก้ม แนะนำให้ผู้สูงอายุกัดฟันไว้แล้วแปรงไล่ไปทีละซี่ จากนั้นแปรงด้านใน และด้านบดเคี้ยวของฟันทุกซี่
- วางแปรงสีฟันโดยให้ขนแปรงสัมผัสขอบเหงือกของฟันแต่ละซี่ โดยขยับแปรงสั้นๆ หรือวนเป็นวงกลม
- หลังแปรงฟันเสร็จควรแปรงลิ้นต่อ อาจใช้แปรงสีฟันทั่วไปหรือแปรงสำหรับแปรงลิ้นโดยเฉพาะ ให้ลากแปรงจากโคนลิ้นออกมายังปลายลิ้นประมาณ 4-5 ครั้ง
- ทำความสะอาดระหว่างซี่ฟัน โดยใช้ไหมจัดฟัน แปรงซอกฟัน แปรงกระจุกเดียวที่ขนาดเหมาะสมกับความกว้างของซอกฟัน เนื่องจากแปรงสีฟันทั่วไปไม่สามารถทำความสะอาดถึงบริเวณนี้
2. ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
หมายถึงกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่มีอาการกลืนลำบาก สำลักง่าย หรือมีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนร่วมด้วย โดยในกลุ่มนี้จะมีผู้ดูแลที่มาดูแลเพิ่มเติม หรือทำแทน โดยผู้ดูแลควรคำนึงเรื่องการจัดท่าทางเพื่อความปลอดภัย และวิธีทำความสะอาดช่องปากและฟันที่เหมาะสม โดยการทำความสะอาดเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง โดยไม่จำกัดช่วงเวลา เช่น หลังกินข้าว หลังเช็ดตัว หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นต้น
ขั้นตอนการทำความสะอาดช่องปากสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ปรับตำแหน่งผู้สูงอายุให้พร้อมสำหรับการแปรงฟัน โดยไม่สำลัก โดยจัดให้อยู่ในท่านั่ง หรือครึ่งนั่งครึ่งนอน อาจใช้หมอนหนุนบนเตียง หรือปรับเตียงให้ศีรษะสูงจาก พื้นเตียงประมาณ 1 ฟุต หรือ จัดให้อยู่ท่านอนตะแคง โดยเลื่อนตัวผู้สูงอายุชิดริมเตียงข้างที่ผู้ดูแลอยู่ วางผ้ากันเปื้อนที่หน้าอก โดยผู้ดูแลสามารถแปรงฟันได้ง่าย
- นำผ้าชุบน้ำเช็ดริมฝีปาก ถอดฟันปลอม และกวาดเศษอาหารภายในปากออกให้หมด จากนั้นนำแปรงสีฟันจุ่มน้ำพร้อมใส่ยาสีฟัน เริ่มแปรงโดยขยับแปรงสีฟันสั้นๆ แปรงให้ทั่วทุกด้านทุกซี่ แล้วแปรงลิ้นให้สะอาด
- ทำความสะอาดระหว่างซี่ฟัน โดยใช้แปรงซอกฟัน แปรงกระจุกเดียวทำความสะอาดบริเวณคอฟันในฟันซี่เดี่ยว ฟันที่ติดช่องว่าง หรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเช็ดให้รอบซี่ฟัน
- จบด้วยบ้วนน้ำเล็กน้อยในผู้สูงอายุที่ควบคุมการกลืนได้ หรือผู้ดูแลใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำพันนิ้วเช็ดยาสีฟันออกให้หมด เช็ดปากให้แห้ง และทาสารให้ความชุ่มชื้น
อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งทันตแพทย์จะช่วยตรวจดูแลสุขภาพช่องปากที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุและโรคทางระบบ พร้อมทั้งประเมินปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ช่วยออกแบบการดูแลสุขภาพช่องปาก พร้อมให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาและการรักษาได้อย่างเนิ่น ๆ เพื่อให้ผู้สุงอายุมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีต่อไป สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ฟรีได้ข้างล่างนี้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทันตกรรม