ภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะวิ่งออกกำลังกาย อันตรายถึงชีวิต
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
ในปัจจุบันการวิ่งออกกำลังกายเป็นที่นิยมมาก มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุต่างออกมาวิ่งออกกำลังกายกันมากยิ่งขึ้นๆ แม้การออกกำลังกายจะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง แต่ที่น่ากังวล คือ นักวิ่งออกกำลังกายบางคนเป็นโรคหัวใจโดยที่ไม่รู้ตัว จนอาจเผลอออกกำลังกายหักโหมเกินไปทำให้เกิด "ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน" อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วยการตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
ภาวะหัวใจล้มเหลว คืออะไร?
ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากมีความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ที่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื้อ อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ แม้ในขณะพัก รวมไปถึงไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของเยื้อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือโรคของหลอดเลือด สาเหตุสำคัญคือ โรคหลอดเลือดตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรูมาร์ติก และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลวขณะวิ่งออกกำลังกาย
การเสียชีวิตขณะวิ่ง ส่วนมากเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งพบได้ในนักวิ่งที่อาจมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่แต่ไม่รู้ตัว จึงทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากหัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่จู่ๆ หัวใจไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้หัวใจขาดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจทำงานไม่ได้ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
โดยนักวิ่งที่อายุมากกว่า 35 ปีมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิต มากถึง 5% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ โดยสาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันยังสามารถแบ่งตามอายุได้ดังนี้
- กลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากเป็นจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
- กลุ่มอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนมากมักเป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เมื่อมีหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การออกกำลังกายอย่างหนักจะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะโรคหัวใจเฉียบพลันได้
อาการเตือนภาวะหัวใจล้มเหลว
หากกำลังวิ่งออกกำลังกายแล้วมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการประกอบกันให้หยุดออกกำลังกายทันที แล้วแจ้งให้คนใกล้ตัวทราบ สังเกตอาการประมาณ 10-20 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นต้องรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถฉุกเฉินไปโรงพยาบาลทันที โดยอาการมีดังนี้
- แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ
- จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่
- หายใจสั้น หอบ
- อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม
- เหงื่อออกท่วมตัว
- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
ตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจก่อนวิ่งออกกำลังกาย
การตรวจสุขภาพร่างกาย และตรวจสุขภาพหัวใจก่อนออกกำลังกาย มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวขณะวิ่งออกกำลังกายได้ โดยสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG)
เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ หรือตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น โรคหัวใจ สภาวะหัวใจทำงานล้มเหลว สภาวะที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นการตรวจที่ง่ายและสะดวก สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย
ขั้นตอนในการตรวจ
ก่อนทำการตรวจไม่ต้องมีการอดน้ำและอาหาร ผู้รับการตรวจต้องแจ้งถึงข้อมูลถึงการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินเสริมอื่นๆ ที่รับประทานอยู่ในขณะนั้น รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจแก่เจ้าหน้าที่ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนการตรวจ เพราะอาจส่งผลต่อผลการตรวจที่ออกมาได้
การตรวจทำได้โดย การวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกายจำนวน 6 จุด ได้แก่ หน้าอก แขน และขา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที แล้วบันทึกผลการตรวจจากกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นลงบนกระดาษ ในขณะตรวจผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนหงายลงบนเตียงทำตัวผ่อนคลายและควรอยู่ให้นิ่งที่สุด
2. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST: Exercise Stress Test)
หรือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน หรือปั่นจักรยาน โดยวิธีนี้นิยมนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะเมื่อมีการออกกำลังกาย หัวใจจะต้องการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น
หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ มีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดอยู่หรือไม่ หัวใจผิดจังหวะอยู่หรือเปล่า ซึ่งบางรายอาจเกิดอาการเจ็บ จุกแน่นหน้าอก ขณะทำการทดสอบได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคหัวใจอยู่
ขั้นตอนในการตรวจ
แพทย์จะให้คนไข้เริ่มเดินช้าๆ บนเครื่องวิ่งสายพานแล้วจึงค่อยๆ เร่งความเร็วขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที จนเมื่อได้ข้อมูลที่เพียงพอในการวินิจฉัยแล้ว จึงหยุดการวิ่งนั้นได้ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติได้ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรืออาจกล่าวได้ว่าวิธีนี้เป็นการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวมที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ควรออกกำลังกายภายใต้ความปลอดภัยของร่างกาย นักวิ่ง หรือผู้ที่ชอบออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ควรเตรียมความพร้อมด้วยตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยเฉพาะการตรวจเช็คสุขภาพหัวใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ