ภาวะแท้งคุกคาม ภาวะอันตรายเกิดได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร

ภาวะแท้งคุกคาม

ภาวะแท้งคุกคาม สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน โดยเฉพาะอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากทารกในครรภ์ จากหญิงตั้งครรภ์ หรือ จากสามีเองก็ได้ โดยหญิงตั้งครรภ์จะมีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ และมีอาการปวดท้องน้อยหรืออาจไม่มีอาการปวดท้องเลย จึงทำให้สับสนได้ว่าเป็นประจำเดือนหรือไม่ ฉะนั้นเพื่อป้องกันภาวะแท้งคุกคาม เมื่อสงสัยหรือทราบว่าตั้งครรภ์ให้มาฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ทันที


ภาวะแท้งคุกคาม เป็นอย่างไร

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) คือ ภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 28 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ มักพบบ่อยในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยหญิงตั้งครรภ์จะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นเลือดสดหรือมูกเลือด และอาจมีเลือดออกน้อย มีเลือดออกระปริกระปรอยเป็นระยะเวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ หรือ บางรายมีเลือดออกเยอะ และมักจะไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือน ปวดบีบๆรัดๆ ตรงกลางท้องน้อยเป็นๆหายๆ หรือปวดร้าวไปหลังได้

> กลับสารบัญ


สาเหตุของภาวะแท้งคุกคาม

  1. เกิดจากความผิดปกติทารกในครรภ์ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม ความพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
  2. เกิดจากความผิดปกติของหญิงตั้งครรภ์ อาทิ
    • การมีโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
    • อายุของหญิงตั้งครรภ์ ทั้งอายุน้อยไปและอายุมากไป โดยอายุน้อยไปฮอร์โมนยังผลิตออกมาไม่ได้อย่างเต็มที่เหมือนกับวัยเจริญพันธุ์ ส่วนอายุที่มาก ฮอร์โมนลดลงน้อยเกินไปเสี่ยงภาวะแท้งคุกคามได้ง่ายขึ้น
    • ความผิดปกติของมดลูกและโพรงมดลูก หรือ การได้รับการผ่าตัดอวัยวะสืบพันธุ์ภายในก่อนการตั้งครรภ์ เช่น พังผืดในโพรงมดลูก มดลูกมีรูปร่างผิดปกติตั้งแต่กาเนิด การผ่าตัดมดลูก
    • ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ความผิดปกติของฮอร์โมน
    • ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด อุบัติเหตุที่กระทบต่อมดลูกหรือบริเวณท้องน้อย ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด เป็นต้น
  3. เกิดจากความผิดปกติสามี เช่น กลุ่มเลือดมีปัญหาหรืออสุจิของคุณพ่อผิดปกติ

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

วิธีสังเกตภาวะแท้งคุกคาม

  1. มีเลือดออกทางช่องคลอด เช่น เลือดออกเปื้อนกางเกงชั้นใน
  2. ปวดท้องน้อย หรือ ปวดหลัง (แต่เกิดได้น้อยมาก)
  3. พบว่าปากมดลูกไม่เปิดขยาย

> กลับสารบัญ


การวินิจฉัยและรักษา

หญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่พบว่าตนเองมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและเพื่อจะได้รับคำแนะนำหรือการรักษาที่ถูกต้องต่อไป รวมทั้งทำการวินิจฉัยแยกโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยรักษาหากพบว่าเลือดออกไม่เยอะจะให้พักผ่อน และหากเกิดจากฮอร์โมนไม่เพียงพอ จะให้ยาเพิ่มฮอร์โมนโดยฉีดวันเว้นวันจนกว่าจะไม่มีภาวะเลือดออก หรือจนกว่าเลือดหยุด เป็นต้น

> กลับสารบัญ


การป้องกันการเกิดภาวะแท้งคุกคาม

  • เมื่อมีการตั้งครรภ์ให้เข้ามาฝากครรภ์ทันที
  • เจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติของฮอร์โมน
  • รับการรักษาต่อเนื่องในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว
  • หญิงตั้งครรภ์ควรให้ประวัติความผิดปกติหรือการผ่าตัดของอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน เช่น ผ่าตัดมดลูก รังไข่ เป็นต้น
  • ตรวจโครโมโซมหาความผิดปกติของทารกในรายที่มีประวัติเสี่ยง
  • ระวังโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

> กลับสารบัญ



การดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะแท้งคุกคาม

  • นอนพัก ภายใน 24-48 ชั่วโมง (ขึ้นกับปริมาณเลือดที่ออกและการหดรัดตัวของมดลูก)
  • ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อประเมินสุขภาพทารก
  • ลดกิจกรรมต่างๆ เช่น ยกของหนัก เดินนาน เป็นต้น
  • สังเกตและประเมินเลือดที่ออกทางช่องคลอด
  • ได้รับการวัดและประเมินสัญญาณชีพ
  • ห้ามสวนล้างช่องคลอด สวนอุจจาระ หรือตรวจภายใน
  • ระวังโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • ระวังการได้รับสารพิษหรือสารเสพติด
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุ หรือการเดินนานๆ
  • ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ทำจิตใจให้สบาย และผ่อนคลายความเครียด

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที ทั้งนี้การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงของภาวะแท้งคุกคาม และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลจากแพทย์ออนไลน์ได้เลย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย