มะเร็งกล่องเสียง โรคร้ายจากภัยบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี
มะเร็งกล่องเสียง เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ถ้านับเฉพาะโรคมะเร็งที่ศีรษะและคอ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษามะเร็งจากก้อนเล็กๆ อาจจะลุกลามกลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้นจนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก และลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงหรืออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลกล่องเสียงออกไป ทำให้อาการทวีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ถ้ามีอาการเสียงแหบเรื้อรังที่รักษาไม่หายนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่มีสาเหตุที่ทำให้เสียงแหบชัดเจน รวมทั้งเป็นผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการในทันที เพราะมะเร็งกล่องเสียงหากพบเร็วสามารถรักษาให้หายได้
รู้จักมะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งกล่องเสียง เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณกล่องเสียงได้รับความเสียหายและเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของกล่องเสียง พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50-70 ปี
โดยกล่องเสียง เป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ขนาด 5 ซม. ประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า มีหน้าที่สัมพันธ์ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร
มะเร็งกล่องเสียงเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกล่องเสียงมีดังต่อไปนี้่
- การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของบุหรี่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ควันของบุหรี่ยังทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียง หยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การดื่มแอลกอฮอล์ สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากคอ หรือ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- >มลพิษทางอากาศ การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ควัน สารเคมี จากโรงงานอุตสาหกรรม
- การติดเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้ เช่น การติดเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus)
อาการมะเร็งกล่องเสียง
อาการเสียงแหบเรื้อรัง หากเกิดที่กล่องเสียงส่วนสายเสียงจะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นกล่องเสียงส่วนอื่นๆ อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้นจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะลุกลามแล้ว โดยอาการที่มีการลุกลามมากขึ้น ได้แก่
- กลืนอาหารลำบาก กลืนติด กลืนเจ็บ กลืนสำลักโดยเฉพาะอาหารที่เป็นน้ำ
- หายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจไม่ออก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีก้อนที่ด้านข้างคอโตจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง
- ไอมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง
อันตรายของมะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งกล่องเสียง หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้หายขาด และพูดได้เป็นปกติ ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี เกิดจากการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง จนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ หรือกดหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้่
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ การตรวจร่างกาย สำรวจในช่องปาก ตรวจที่บริเวณลำคอว่ามีก้อนนูนหรือมีอาการบวมหรือไม่ จากนั้นอาจมีการวินิจฉัยโดยวิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่่
- การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูกและคอ โดยใช้ท่อขนาดเล็ก มีไฟส่องสว่างและกล้องอยู่ที่ปลายท่อ สอดเข้าทางรูจมูกลงไปยังลำคอ
- การใช้กล้องส่องตรวจในกล่องเสียง ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจด้วยการกล้องส่องตรวจในโพรงจมูก ลักษณะจะคล้ายกัน เพียงแต่วิธีการนี้จะใช้ท่อที่ใหญ่กว่าและแข็งกว่าสอดเข้าทางปาก
- การตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตรวจชิ้นเนื้อ โดยตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณกล่องเสียงไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
มะเร็งกล่องเสียงรักษาได้อย่างไร
- การรักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกเริ่ม (ระยะ 1-2) แพทย์จะทำการผ่าตัด หรือ การฉายรังสีรักษา โดยเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง เพียงวิธีเดียวเพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่การฉายรังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดได้ และสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้
- การรักษามะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลาม (ระยะ 3-4) แพทย์จะใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา และในกรณีที่อาการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การฉายรังสีรักษาร่วมกับการทำเคมีบำบัด
ทั้งนี้การเลือกวิธีการรักษาต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายผู้ป่วยด้วยว่าเหมาะกับวิธีใดมากกว่า บางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถดมยาสลบได้ หรือมีโรคประจำตัวหลายโรค ก็อาจเลือกวิธีการฉายรังสีรักษาแทน แต่ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์ อาจเลือกวิธีการผ่าตัด
ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงหลังการรักษา ดูแลตัวเองอย่างไร
- หยุดสูบบุหรี่ทันที และงดการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ในรายที่มีปัญหาด้านการกลืน แพทย์อาจพิจารณาให้อาหารทางอื่นร่วมด้วยเพื่อให้ได้รับปริมาณสารอาหารเพียงพอ
- มาพบแพทย์ตามนัด และรักษาอย่างต่อเนื่อง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้ม ยาสมุนไพร ยาจีน เพราะอาจมีโอกาสให้เกิดการแทรกซ้อนจากสารต่างๆ ที่อยู่ในยาเหล่านั้นได้
- หากมีอาการผิดปกติใดๆ ระหว่างการรักษาโดยเฉพาะ อาการหายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดังเหมือนนกหวีด เหนื่อยมากขึ้น ให้มาพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้หากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิด มีอาการเสียงแหบ เสียงเปลี่ยนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ และมีพฤติกรรมเสี่ยง ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ่อย หรือสูบบุหรี่จัดเป็นระยะเวลานาน ให้สงสัยว่าอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรรีบไปพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการในทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก