มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบที่อันตราย

ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก

บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี

มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบที่อันตราย

เชื่อว่าหลายคนรู้จักโรคมะเร็งดีอยู่แล้ว เช่น มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก แต่บริเวณที่เป็นบางแห่งอาจไม่คุ้นเคยนัก อย่างเช่นบริเวณหลังโพรงจมูกที่สามารถเกิดมะเร็งได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการตรวจและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะลุกลามทำให้ยากแก่การรักษา อย่างไรก็ตามมะเร็งหลังโพรงจมูกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบรอยโรคในระยะเริ่มแรก ยิ่งรู้ตัวว่าป่วยเร็วเท่าไร โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็ยิ่งมีความหวังมากเท่านั้น


รู้จักมะเร็งหลังโพรงจมูก

มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma: NPC) เป็นการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติหรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงนี้จะก่อให้เกิดเนื้อร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ซึ่งมะเร็งหลังโพรงจมูกจะเกิดบริเวณหลังโพรงจมูก โดยโพรงจมูกจะมีลักษณะเป็นโพรงกว้าง อยู่ทางด้านหลังของจมูก เป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังคอ ตำแหน่งนี้จะมีสารบางอย่างไหลผ่านเข้าไปได้ง่าย เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษต่างๆ หรือสารที่เกิดจากการเผาไหม้และอาจเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหลังโพรงจมูกได้ง่าย


มะเร็งหลังโพรงจมูกเกิดจากสาเหตุใด

มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นหนึ่งในมะเร็งบริเวณศีรษะและคอที่พบบ่อยในประเทศไทย ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 30-60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า โดยสาเหตุและปัจจัยความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่

  • การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus)
  • ความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม พบมากในบริเวณ South East Asia โดยเฉพาะในประเทศจีนตอนใต้และฮ่องกง
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์หมักดองเป็นเวลานาน ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน ซึ่งมีสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่า ไนโตรซามีน (Nitrosamines) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยหากสูดดมสารนี้เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูก อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว จนเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ได้
  • การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นไม้หรือขี้เลื่อย ฝุ่นหนัง ฝุ่นจากสิ่งทอ บุหรี่ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์สารประกอบนิกเกิล ฟอร์มาดีไฮด์ และโครเมียม เป็นต้น

อาการมะเร็งหลังโพรงจมูก

  • หูอื้อเรื้อรัง จะอื้อด้านเดียว ซ้าย หรือขวาก็ได้
  • มีก้อนนูนที่คอ
  • มีเลือดไหลลงคอ
  • ชาบริเวณใบหน้า
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • คัดจมูก น้ำมูกไหลข้างเดียว โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นหวัดหรือภูมิแพ้

การตรวจและวินิจฉัยมะเร็งหลังโพรงจมูก

หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคลำเจอก้อนที่คอ ร่วมกับรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ก็ควรรีบเข้าไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจและวินิจฉัยโรค ทั้งนี้ เพื่อการรักษาที่รวดเร็วในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งซ่อนตัวอยู่

โดยแพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ และการส่องกล้องตรวจหลังโพรงจมูกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกมีลักษณะผิดปกติ เช่น เนื้อนูน ผิวขรุขระมีเลือดซึม แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจและดูว่ามีการกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ หรือไม่


การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

เมื่อตรวจยืนยันแล้วพบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะเริ่มการรักษา โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ได้แก่

  1. การฉายรังสี เนื่องจากบริเวณหลังโพรงจมูกเป็นตำแหน่งที่ยากต่อการผ่าตัด ดังนั้น การรักษาหลักๆ จึงเป็นการฉายรังสี ซึ่งในโรคระยะที่ 1 อาจเป็นการให้รังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว
  2. การใช้รังสีรักษา ร่วมกับยาเคมีบำบัด ในกรณีที่มะเร็งลุกลามออกนอกหลังโพรงจมูกแล้ว ไม่ว่าโรคจะอยู่ในระยะใดก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น
  3. การผ่าตัด เป็นการรักษาในกรณีที่มะเร็งไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการฉายรังสี
ทั้งนี้การป้องกันมะเร็งหลังโพรงจมูกนั้น เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสวมเครื่องป้องกันขณะปฏิบัติงานในโรงงานที่มีสารก่อมะเร็ง และสิ่งสำคัญควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อการรักษาที่ทันเวลา เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกเริ่มจะได้ผลดีกว่าในระยะลุกลาม ฉะนั้นหากมีอาการที่สงสัย ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อทำการตรวจรักษา





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย