รู้จัก ป้องกัน รักษา...โรคเบาหวาน ที่ไม่หวาน
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (ข้าว,แป้ง) โปรตีนและไขมัน ก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่อหลอดเลือด ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ ความยืนยาวของอายุ และคุณภาพชีวิต
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน
- อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
- มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือภาวะอ้วน
- มีญาติสายตรง อาทิ บิดา มารดา พี่น้องสายเลือดเดียวกันเป็นเบาหวาน
- มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กก.
- มีความดันโลหิต 140/90 หรือมากกว่า
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น เอช ดี แอล (ไขมันดี) มีค่า 38 มก.% หรือต่ำกว่า ไตรกลีเซอไรด์มีค่า 250 มก.% หรือสูงกว่า
- ผู้ที่ไม่มีกิจกรรมสุขภาพ หรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
- มีภาวะถุงน้ำที่รังไข่
อาการของโรคเบาหวาน
- ปัสสาวะบ่อยและมาก หรืออาจเกิดมดขึ้นปัสสาวะ
- กระหายน้ำ และดื่มน้ำบ่อยครั้ง
- กินจุ หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจซึมลง หรือไม่รู้สึกตัว
- ตาพร่ามัว
- เป็นแผลหรือฝีง่ายรักษาหายยาก มีผื่นคันตามผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องมาจากเชื้อรา
- ปลายมือ ปลายเท้าชา
- สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง โดยเฉพาะในเพศชาย
- อาจไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในรายที่เริ่มมีอาการไม่นาน มักพบบ่อยได้โดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี เพราะฉะนั้นคนทั่วไปเมื่ออายุเกิน 40 ปี จึงควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อการค้นพบโรคต่างๆ ล่วงหน้า และเตรียมพร้อมในการรักษา
- ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น โรคตา โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการของโรคเบาหวาน
โดยใช้วิธีการตรวจ ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ
- กรณีเกิดอาการชัดเจน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมาก อ่อนเพลีย สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ทันทีโดยไม่ต้องงดอาหาร ถ้าได้ ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
- กรณีไม่มีอาการ ให้งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืน (แต่จิบน้ำได้) 8-12 ชม. ก่อนมาตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของวันรุ่งขึ้น หากได้ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
- ตรวจโดยการดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วเจาะเลือดหลังดื่ม 2 ชั่วโมง ถ้าได้ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็น โรคเบาหวาน
หมายเหตุ : ค่าปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ปัจจุบันกำหนดไว้ดังนี้ เจาะก่อนอาหารเช้า ไม่เกิน 100 มก/ ดล หรือเจาะเลือดใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม ไม่เกิน 140 มก/ดล
โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม
- โรคแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน ได้แก่
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มักจะพบในรายที่รับยามากเกินไปหรือรับยาเท่าเดิม แต่ไม่ได้รับประทานอาหารตามปกติ เช่น ขณะเป็นไข้ ท้องเสีย
- ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น ความไม่รู้สึกตัว ซึ่งมีทั้งชนิดที่มีกรดคีโตนคั่งค้างในกระแสโลหิตหรือไม่มีกรดคีโตนคั่งอยู่ก็ตาม
- ภาวะการติดเชื้อ
- โรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง แบ่งเป็น
- โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดขนาดเล็ก ได้แก่
- โรคแทรกซ้อนทางตา ทำให้มีการทำลายของหลอดเลือดในจอภาพ เกิดอาการตามัวจนถึงตาบอด ได้อย่าง กะทันหัน
- โรคแทรกซ้อนทางไต ทำให้มีการรั่วของไข่ขาวในปัสสาวะส่งผลต่อไตเสื่อมลง จนถึงขั้นไตวายและเสียชีวิตได้ โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท ทำให้มีการเสื่อมทั้งระบบประสาททั่วไป และระบบประสาทอัตโนมัติก่อให้เกิดอาการต่างๆ มากมาย เช่น ชาตามปลายมือ ปลายเท้า หรือปวดแสบปวดร้อน กล้ามเนื้อขาลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระเพาะปัสสาวะคราก สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง สุขภาพเท้าบกพร่อง จนนำไปสู่การตัดอวัยวะส่วนนั้นๆ และพิการในที่สุด
- โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดขนาดใหญ่ ได้แก่
- หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
- หลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดอาการหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เช่น เจ็บแน่นหน้าอกกะทันหัน หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
- หลอดเลือดขาตีบตัน เกิดอาการปวดขาเวลาเดิน เพราะเลือดไปเลี้ยงขาไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อร่วมกับโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท จะทำให้เท้าเป็นแผลง่าย หายยาก เป็นบ่อเกิดของการอักเสบติดเชื้อที่รุนแรง และมีเนื้อตายจนเป็นเหตุให้ต้องถูกตัดขา หรือสูญเสียอวัยวะ
- โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดขนาดเล็ก ได้แก่
หลักการรักษาโรคเบาหวาน
- มีความรู้เรื่องโรคเบาหวาน
- การควบคุมอาหาร
- ยาและอินซูลิน
- การออกกำลังกาย
ซึ่งทั้ง 4 หลักนี้ ทางโรงพยาบาลนครธน มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน และญาติผู้ดูแลใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง
การให้ความรู้
ชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบและเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ รวมถึงโรคแทรกซ้อนต่างๆ พร้อมทั้งวิธีป้องกัน เป้าหมายของการรักษา การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลเท้า ความรู้เรื่องยา การดูแลตนเอง และการปฏิบัติตัวในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น การเดินทางไกล การเจ็บป่วยกะทันหัน
การควบคุมอาหาร
มีหลักว่าไม่ให้อดอาหาร แต่เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ถูกต้องและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยเบาหวานจะรู้จักแลกเปลี่ยนอาหารและนำไปปฏิบัติได้ สามารถเลือกกินอาหารได้หลากหลายชนิด กินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ สิ่งที่ต้องระวังคือ บริโภคให้พอเหมาะหรือไม่กินมากเกินไป
ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องมีความรู้ว่าตนเองสามารถรับประทานอาหารแต่ละหมวดได้กี่ส่วน โดยจะกำหนดจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายสมควร ได้รับในแต่ละวันซึ่งคำนวณได้จากน้ำหนักตัวที่เหมาะสมร่วมกับกิจกรรมประจำวัน ตัวอย่าง เช่น ถ้ารับประทานอาหารได้วันละ 1,500 กิโลแคลอรี่ สามารถจะแบ่งได้เป็น นม 1 ส่วน ผลไม้ 6 ส่วน ผัก 3 ส่วน ข้าว 8 ส่วน เน้อสัตว์ 6 ส่วน ไขมัน 6 ส่วน เป็นต้น
ปัจจุบันมีการคำนวณสัดส่วนของอาหารแต่ละหมวดไว้อย่างมากมาย ซึ่งสามารถที่จะขอข้อมูลได้จากทีมให้ความรู้เบาหวานและเอกสารเฉพาะ เรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจากโรงพยาบาล
ยาและอินซูลิน
โดยยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน มีกลไกการออกฤทธิ์ 3 ประเภท
- กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน
- เสริมฤทธิ์อินซูลินที่ตับ กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน
- ลดอาการดูดซึมกลูโคสจากทางเดินอาหาร
อินซูลินเป็นยาแดซึ่งมีหลากหลายชนิด แล้วแต่ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ การพิจารณาว่าผู้ป่วยสมควรได้รับยาประเภทใด ควรเป็นดุลยพินิจของแพทย์ แต่ผู้ป่วยควรต้องมีความรู้ว่ายามีฤทธิ์ข้างเคียงอย่างไร รับประทานอย่างไร เมื่อใดควรหยุดยา
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
มีข้อแนะนำและข้อควรระวัง ดังนี้
- ควรได้รับการตรวจสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- ควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง ความถี่ในการออกกำลังกายควรเป็น 3-5 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มต้นควรทำวันเว้นวัน หรือ 2-3 วันต่อสัปดาห์ก่อน
- ควรเลือกออกกำลังกายด้วยกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่ชอบ เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ถีบจักรยานอยู่กับที่ ว่ายน้ำหรือเดินในน้ำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิก หรือทำกายบริหารด้วยท่าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการบริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อคงความยืดหยุ่นของร่างกายร่วมด้วย ในกรณีไม่มีปัญหากับโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
- ตรวจสำรวจเท้าก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อดูว่ามีรอยถลอก รอยแดง รอยช้ำบวม มีแผลหรือไม่
- ใส่รองเท้าที่สบายหลวมพอดี พื้นรองเท้านิ่ม
- อย่าออกกำลังกายภาย 1 ชั่วโมง ก่อนถึงเวลาอาหาร
- หยุดการออกกำลังกายทันทีที่มีอาการตื่นเต้น กระสับกระส่าย มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกผิดปกติ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาพร่า หิว เจ็บ แน่นหน้าอก หายใจหอบมากผิดปกติ
การประเมินผลการรักษา
ถ้าต้องการผลสูงสุดในการรักษา ควรจะมีดัชนีชี้วัดผลการรักษาดังนี้
- ระดับน้ำตาลก่อนอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง 90-130 มก/ดล
- ระดับน้ำตาลหลังอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งต่ำกว่า 180 มก/ดล
- ค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสม (Hbaic) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 7%
- ความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท (กรณีมีโรคไตแล้วควรต่ำกว่า 125/75 มม.ปรอท)
- ระดับไขมันร้าย (LDL) ต่ำกว่า 100 มก/ดล
- ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (TG) ต่กว่า 150 มก/ดล
- ระดับไขมันดี (HDL) สูงกว่า 40 มก/ดล
ซึ่งถ้ารักษาแล้วทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าว อาจจะมีโรคแทรกซ้อนน้อยที่สุด
ปัจจุบัน มีการศึกษาที่พิสูจน์ได้แล้วว่าโรคเบาหวานสามารถป้องกันได้กล่าวคือ ถ้ามีการควบคุมอาหารที่ถูกต้องร่วมกับการออกกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถป้องกันโรคเบาหวานได้เกือบ 60% เรานำวิธีดังกล่าวนี้มาใช้กับบุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคอ้วน เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน มีภาวะดื้อต่ออินซูลินตลอดจนผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (100125 มก/ดล) ซึ่งมักจะวัดได้จากการตรวจเช็คสุขภาพ
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม