รู้ทันอาการ “ผู้หญิงวัยทอง” (Menopause)
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์
ผู้หญิงวัยทอง (Menopause) หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คือ ผู้หญิงที่ถึงวัยหมดประจำเดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เนื่องจากรังไข่หยุดการทำงาน เป็นการหยุดความสามารถในการเจริญพันธ์ โดยปกติ จะนับเมื่อขาดประจำเดือนมาเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี สำหรับหญิงไทยอายุเฉลี่ยที่จะเข้าสู่วัยทองคืออายุประมาณ 48-51 ปี ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง กระทั่งรบกวนวิถีชีวิตประจำ
สารบัญ
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน วัยทอง ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
- ร้อนวูบวาบ เป็นอาการทางร่างกายที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยทอง เป็นอาการร้อนตามตัวและใบหน้าซึ่งอาจมีเหงื่อออกที่ใบหน้าร่วมด้วยได้ อาการนี้เกิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน อาการร้อนวูบวาบจะเกิดบ่อยในช่วงปีแรกที่หมดประจำเดือนและบางรายอาจมีอาการต่อเนื่องยาวนานไปจนถึง 8-10 ปีหลังจากหมดประจำเดือน
- ช่องคลอดแห้ง จึงมีอาการคัน แสบ ระคายเคืองบริเวณช่องคลอด ผนังช่องคลอดบาง มีการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย เวลาไอจามมีปัสสาวะเล็ด
- นอนไม่หลับ มีปัญหาเรื่องการตื่นนอนเร็ว บางครั้งตื่นขึ้นมากลางคืนบ่อย
- ความรู้สึกทางเพศลดลง เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ การผลิตน้ำหล่อลื่นจากต่อมต่างๆ ภายในระบบสืบพันธุ์ลดลง อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวตามมา
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและข้อ บางรายอาจเจอภาวะกระดูกพรุน เวลาหกล้มกระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น
- ผิวหนังแห้ง อาจทำให้เกิดแผลได้ง่าย เส้นผมเปราะบาง ทำให้หลุดร่วงเร็วขึ้น
วิธีการรักษา
- อาการร้อนวูบวาบ : ต้องสังเกตและจดจำสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น สถานที่อยู่ การสัมผัสกับอากาศที่ร้อนมาก อาหารรสจัด อาหารร้อน เครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินอี และบี คอมเพล็กซ์ รวมถึงอาหารเสริมของสารเหล่านี้ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะความเครียดจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการรักษาด้วยยาในกลุ่มฮอร์โมนทดแทน
- ช่องคลอดแห้งและปัสสาวะบ่อย : อาจมีการใช้ยาฮอร์โมนสอดช่องคลอดเพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด และทำให้ช่องคลอดยืดหยุ่นมากขึ้น และมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่เจ็บ
- อาการนอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน : ใช้ยาลดอาการซึมเศร้า เช่น ยาในกลุ่ม SSRI หรือการใช้ยาฮอร์โมนทดแทน รวมถึงทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อผ่อนคลายความเครียด และทำให้จิตใจแจ่มใส
- กระดูกพรุน : หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนัก รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง การใช้ฮอร์โมนทดแทน และยารักษากระดูกพรุน
- ผมร่วง : สระผมอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุการทำลายรากผม และหนังศีรษะ รวมถึงใช้ยาสระผมที่มีสารกระตุ้นการงอกใหม่หรือสารที่ช่วยบำรุงเส้นผม ร่วมกับการรับประทานอาหาร และผักผลไม้ที่มีประโยชน์
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้