รู้สึกหัวใจเต้นสะดุด เสี่ยงเป็นหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

รู้สึกหัวใจเต้นสะดุด เสี่ยงเป็นหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC

ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC ถือได้ว่าเป็นหนึ่งประเภทของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่อาจส่งผลให้ใจสั่น วูบ หรือรู้สึกหวิวๆ กระทบต่อการชีวิตประจำวันได้ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการเป็นลม หมดสติ บางรายอาจมีอาการเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC สามารถรักษาได้ด้วยยา หรือการจี้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะทำให้หายเป็นปกติได้


ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC เป็นอย่างไร

ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด PVC (Premature ventricular contraction) เกิดจากหัวใจห้องล่างเกิดการบีบตัวก่อนเวลาที่ควรจะเป็น โดยปกติการการเต้นของหัวใจจะเกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมาจากเนื้อเยื่อพิเศษที่หัวใจห้องบน (SA node) แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นมายังหัวใจห้องล่างจนเกิดการบีบตัวของหัวใจ นั่นคือ การเต้นของหัวใจนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วเมื่อหัวใจห้องล่างโดนกระตุ้นไปแล้วจะต้องรอกระแสไฟฟ้ารอบใหม่จากหัวใจห้องบน (SA node) ในระหว่างที่รอนั่นเอง กลับมีระแสไฟฟ้าแปลกปลอมที่ไม่ได้มาจากหัวใจห้องบน แต่มาจากหัวใจห้องล่างแทน ทำให้หัวใจถูกกระตุ้นให้มีการบีบตัวหรือเต้นก่อนเวลาที่ควรจะเป็น


ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC

ปัจจัยที่ทำให้ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ หัวใจเต้นผิดปกติชนิด PVC มีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ประวัติสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ได้แก่

  • ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • ยาและสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
  • ความเครียดและความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการที่เกิดขึ้นได้

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC มักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา โดยมักพบภาวะนี้จากการตรวจสุขภาพหรือเมื่อป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปรากฏให้สังเกตได้ เช่น

  • ใจสั่นเหมือนหัวใจจะกระโดด
  • หัวใจเต้นสะดุด เต้นไม่สม่ำเสมอ
  • หัวใจเต้นแรง
  • เจ็บหน้าอก
  • หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • อ่อนเพลียไม่มีแรง


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร

โดยเบื้องแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น โรคหัวใจ ปัญหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น และตรวจพิเศษอื่นๆ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram: EKG) เพื่อการทดสอบจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ระหว่างการตรวจจะมีการติดเซนเซอร์บนผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกบันทึกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษได้ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเมื่อตรวจในขณะมีอาการ

ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC อาจพบได้ในคนปกติทั่วไปโดยไม่มีอาการแสดง หรือ มีอาการแต่มาตรวจหลังจากมีอาการแล้วทำไห้ตรวจไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้ Holter Monitor เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว เพื่อเก็บบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ทำให้แพทย์เห็นว่ามันมีหัวใจเต้นผิดจังหวะในช่วงใดบ้าง


การรักษาภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC

ในบางรายที่อาการยังเป็นไม่มาก กล่าวคือ ยังไม่ได้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะจนทำให้เกิดอาการของหัวใจวายหรือหัวใจขาดเลือด คือมีแค่ใจสั่นๆ เป็นบางเวลาอันนี้แพทย์จะแนะนำให้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือชากาแฟ ควบคุมความเครียดและลดการกังวล ถ้าเป็นมากขึ้นอาจจะต้องใช้ยาเพื่อลดอันตราการเต้นของหัวใจร่วมด้วย เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (betablocker) หากเป็นมากจนกินยาก็ยังคุมไม่อยู่จะใช้วีรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) ทำลายหัวใจส่วนที่เต้นผิดจังหวะ


วิธีการรักษาด้วย...การจี้หัวใจ

การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงนั้น จะกระทำได้โดยการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ (เช่นเดียวกับการตรวจสวนหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี) สายสวนหัวใจชนิดพิเศษดังกล่าวจะมีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย จึงสามารถบันทึกกระแสไฟฟ้าในหัวใจ แสดงให้เห็นบนจอ Monitor ซึ่งแพทย์จะขยับสายสวนหัวใจดังกล่าวไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ อาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที คลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 55 องศา ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิของน้ำอุ่น

การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ


รูปแบบของการจี้ไฟฟ้าหัวใจรักษาภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC ได้แก่

1. การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ แบบ CARTO (CARTO System) เป็นการหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ และใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติ ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง

2. การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ แบบเย็นจัด (Cryoablation) เป็นการใช้พลังงานความเย็น เพื่อจี้ทำลายวงจรที่ผิดปกติแทนพลังงานความร้อน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้าง ไม่มีอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน และระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาลดลง


การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  4. ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ
ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรมีการดูแลรักษาตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการใจสั่นมาก รู้สึกเป็นตลอดเวลา เจ็บแน่นหน้าอก เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วไม่ส่งผลต่ออันตราย





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย