ลูกน้อยแข็งแรง ด้วยการรับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน

ลูกน้อยแข็งแรง ด้วยการรับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี

นอกจากนมแม่จะเป็นวัคซีนจากธรรมชาติที่สร้างเกราะป้องกันให้ลูกน้อยห่างจากเชื้อโรค และอาการเจ็บป่วยต่างๆ แล้ว การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการให้วัคซีนพื้นฐานแก่ลูก เป็นอีกวิธีจะทำให้ลูกน้อยของคุณมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง โดยวัคซีนจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคเป้าหมาย เมื่อเด็กๆ ได้รับวัคซีนแล้วจะทำให้โอกาสป่วยเป็นโรคติดต่อต่างๆ ลดลงอย่างมาก ทั้งยังลดความพิการและการเสียชีวิต เด็กๆ จึงมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมที่จะเติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมวัย


วัคซีนมีกี่ประเภท

  1. วัคซีนหลัก หรือวัคซีนพื้นฐาน ที่เด็กทุกคนจะต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิดและเป็นไปตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน เพื่อสุขภาพของเด็ก ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ฮิบ โปลิโอ วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนโรต้า
  2. วัคซีนเสริม หรือ วัคซีนทางเลือก ที่สามารถเลือกฉีดเสริมเพิ่มเข้าไปเพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) เป็นต้น

> กลับสารบัญ


เสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนพื้นฐาน

การฉีดวัคซีนให้กับลูกน้อยนับว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กเพื่อป้องกันโรคร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 1 ปี จะไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต้านทานเชื้อโรคต่างๆ หากได้รับเชื้อโรคในขณะนั้นขึ้นมาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การรับวัคซีนมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กมีภูมิต้านทานเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากโรคติดต่อร้ายแรง ลดความเสี่ยงพิการในวัยเด็ก รวมทั้งยังมีประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย เพราะเมื่อเด็กได้รับวัคซีนโรคนั้นๆ แล้ว โรคนั้นจะไม่ติดต่อไปยังเด็กคนอื่น

> กลับสารบัญ


วัคซีนพื้นฐานที่ต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิด – 1 ปี

การฉีดวัคซีนพื้นฐานให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 1 ปี นั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ เพื่อสร้างเกราะป้องกันจากโรคต่างๆ ดังนี้

  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี(HB) เตรียมจากโปรตีนผิวนอกของไวรัส (HBsAg) ซึ่งจะไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันการติดเชื้อ และโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้ได้ เช่นมะเร็งตับ และตับแข็ง ควรได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม ที่แรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และเข็มสุดท้ายที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน ในเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หลังจากได้รับวัคซีนครบแล้ว แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบบี ที่อายุประมาณ 9 เดือน – 1 ปี เพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีจริง และยืนยันว่าไม่ติดไวรัสชนิดนี้ด้วย
  • วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน แบ่งเป็นชนิดไอกรนทั้งเซลล์(DTwP) และไอกรนไร้เซลล์ (DTaP)ซึ่งสามารถใช้แทนชนิดไอกรนทั้งเซลล์(DTwP) ได้ทุกครั้ง และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงเช่น ไข้สูง ร้องกวน ตัวอ่อนปวกเปียกที่มักเกิดในช่วง 48 ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีนชนิดไอกรนทั้งเซลล์ได้ เริ่มให้ที่อายุ 2 4 และ6 เดือน
  • วัคซีนฮิบ (Hib) เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Haemophilus Influenzae Type b ที่ก่อโรคในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เเละก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด วัคซีนฮิบอยู่ในรูปแบบรวมกับวัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี และโปลิโอชนิดฉีด เริ่มให้ที่อายุ 2,4, 6 เดือน
  • วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย (IPV) ปัจจุบันมีอยู่ในรูปวัคซีนรวมเข็มกับ DTaP เป็นวัคซีนที่ทําจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว ประกอบด้วยเชื้อโปลิโอ 3 สายพันธุ์
  • วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ปัจจุบันแนะนำเริ่มให้เข็มแรกที่อายุ 9 เดือน - 1 ปี การที่รับวัคซีนก่อนหน้าเร็วเกินไป วัคซีนจะไม่สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันของแม่ที่ยังหลงเหลืออยู่ ขัดขวางการสร้างภูมิในตัวของเด็ก
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live-JE) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง เริ่มฉีดที่อายุ 9 เดือน - 1 ปี เนื่องจากการได้รับวัคซีนเข็ม 2 ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงและอยู่นานในเด็ก จึงแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยฉีดกระตุ้นอีก1-2 ปี หลังจากเข็มแรก
  • วัคซีนโรต้า (Rota) ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็กที่พบบ่อย และอาการรุนแรงโดยเฉพาะทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนป้องกันเป็นแบบรับประทานชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีทั้งชนิดหยอด 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง
  • วัคซีนบีซีจี (BCG : Bacillus Calmette Guerin) วัคซีนป้องกันวัณโรค ฉีดตั้งแต่แรกเกิด ภูมิต้านทานต่อเชื้อวัณโรคจะเกิดเต็มที่ประมาณ 2 เดือนหลังได้รับวัคซีน มีประสิทธิภาพดีต่อการป้องกันวัณโรคระยะแรกในเด็ก โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิดแพร่กระจาย สามารถป้องกันได้สูงถึงร้อยละ 52-100 และสามารถป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ร้อยละ 53

ตารางการรับวัคซีนพื้นฐานตามช่วงอายุ แรกเกิด – 1 ปี

อายุ วัคซีน ข้อแนะนำ
แรกเกิด ตับอักเสบบี (เข็ม 1) ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
บีซีจี ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล
1 เดือน ตับอักเสบบี (เข็ม 2 ) -
2 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ฮิบ-โปลิโอ (เข็ม 1) วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค
โรต้า (เข็ม 1) ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งแรก ในเด็กอายุมากกว่า 15 สัปดาห์
4 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ฮิบ-โปลิโอ (เข็ม 2) วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค
โรต้า (เข็ม 2) ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
6 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ-โปลิโอ (เข็ม 3) วัคซีนรวม 6 โรค
โรต้า (เข็ม 3)
  • ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
  • ให้ยกเว้นการได้รับวัคซีนโรต้าครั้งที่ 3 ในเด็กที่ได้รับวัคซีน Rotarix มาแล้ว 2 ครั้ง
9 เดือน - 1 ปี หัด หัดเยอรมันและคางทูม (เข็ม 1 ) หากไม่ได้ฉีดเมื่ออายุ 9 เดือน ให้รีบติดตามฉีดโดยเร็วที่สุด
ไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (เข็ม 1)

> กลับสารบัญ


ลืมพาลูกไปฉีดวัคซีน เป็นอะไรหรือไม่

หากพ่อแม่พาเด็กมารับวัคซีนล่าช้า หรือไม่สามารถมารับตามกำหนดได้นั้น สามารถพาลูกของคุณไปรับวัคซีนย้อนหลังได้ เช่น ในกรณีวัคซีนที่ต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่ได้พามาตามกำหนดเวลานัดในครั้งที่ 2 และเลยเวลาไปแล้ว ก็สามารถพาเด็กมารับวัคซีนตัวนั้นๆ ต่อได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มต้นครั้งที่ 1 ใหม่ ทั้งนี้วัคซีนทุกชนิดถ้าไม่สามารถเริ่มให้ตามกำหนดได้ ก็ให้เริ่มทันทีที่พบว่ายังไม่ได้ฉีดครั้งแรก

> กลับสารบัญ


ผลข้างเคียงของวัคซีนมีอะไรบ้าง

วัคซีนทุกชนิดสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายได้รับวัคซีนแล้วและกำลังทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

> กลับสารบัญ


เสริมภูมิต้านทานให้แข็งแกร่งมากขึ้นด้วยวัคซีนเสริม

ในปัจจุบัน โรคใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากวัคซีนพื้นฐานที่ให้แก่เด็กแล้ว วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือกก็มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเสริมนั้นสามารถพิจารณาเลือกฉีดได้จากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนนั้นพบบ่อยมากน้อยเพียงใด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแค่ไหน มีความปลอดภัยแค่ไหน หรือมีผลข้างเคียงหรือไม่ โดยสามารถที่จะมาปรึกษาแพทย์ก่อนการรับวัคซีนได้

> กลับสารบัญ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย