สารพันปัญหา “ภาวะครรภ์เป็นพิษ”

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร

ครรภ์เป็นพิษ

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากการดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรงสมบูรณ์แล้ว การดูแลสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์เองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์มาพอสมควรและคงได้ยินคำว่า “ครรภ์เป็นพิษ” มาคร่าว ๆ แล้วแต่อาจยังไม่เข้าใจมากนัก ครรภ์เป็นพิษคืออะไร อันตรายหรือไม่ รักษาได้อย่างไร? ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน มีคำตอบ


ภาวะครรภ์เป็นพิษ คืออะไร?

ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ ภาวะพิษแห่งครรภ์ (Preeclampsia) หมายถึง ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตร (มม.) ปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวในปัสสาวะของสตรีที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ โดยภายหลังคลอดภาวะครรภ์เป็นพิษจะค่อยๆ หายไปเอง

> กลับสารบัญ


ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัวหรือจากกรรมพันธุ์ สันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสตรีมีครรภ์ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ ทำให้บางส่วนของรกขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วนและมีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว

> กลับสารบัญ


คุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดบ้าง ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน
  • สตรีตั้งครรภ์ที่อ้วนเกินไป หรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 ขึ้นไป
  • สตรีมีครรภ์ที่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคเอสแอลอี
  • สตรีตั้งครรภ์แฝด
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  • ตั้งครรภ์ครั้งแรก

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีอาการอย่างไร?

ภาวะครรภ์เป็นพิษในระยะเริ่มแรกนั้นจะไม่มีอาการภายนอกให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน แต่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทราบได้จากการรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และสามารถตรวจพบได้ก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น โดยสูติแพทย์จะคอยสังเกตภาวะความดันโลหิตสูง ระดับโปรตีน (ไข่ขาว) ในปัสสาวะ และปัญหาการไหลเวียนเลือด เช่น การบวมน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตสูงและอาการบวมที่ไม่มากนักสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในระหว่างตั้งครรภ์ และไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาที่รุนแรงเสมอไป นอกจากนี้ระดับโปรตีนในปัสสาวะก็บ่งบอกถึงอาการติดเชื้อ ดังนั้นจึง ยากที่จะชี้ชัดถึงภาวะครรภ์เป็นพิษในช่วงเริ่มต้น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในระยะต่อมาของการตั้งครรภ์

หากมีการตรวจพบภาวะเสี่ยงหรือคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้ควรมาพบแพทย์ทันที

  • น้ำหนักเพิ่มมากกว่าหรือเท่ากับ 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก
  • มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้าและเท้า
  • ปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
  • มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้
  • จุกแน่นหน้าอก หรือบริเวณลิ้นปี่
  • หากอาการรุนแรงอาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมองได้

> กลับสารบัญ


ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

ภาวะครรภ์พิษ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทังในคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ดังนี้

  1. ภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
    • เสียชีวิต มักเกิดจากมีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก
    • เกิดอาการชัก
    • ตาบอด อาจเป็นชั่วคราว หรือถาวร
    • มีภาวะน้ำท่วมปอด
    • มีเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  2. ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์
    • มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
    • มีการคลอดก่อนกำหนด
    • มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
    • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
    • หัวใจทารกเต้นช้า จาการขาดออกซิเจน

> กลับสารบัญ



ภาวะครรภ์เป็นพิษ รักษาได้อย่างไร?

ในภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง อาจไม่มีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ต้องมาติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด นอนพักมาก ๆ ลดอาหารรสจัด และสังเกตนับเวลาที่ลูกดิ้นทุกวัน วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ให้เฝ้าระวังอาการของโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ต้องรีบมาพบแพทย์

หากพบว่าเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ160/110 มม. ปรอท จำเป็นต้องได้รับยาลดความดันโลหิต เพื่อป้องกันหลอดเลือดในสมองแตก และมีการติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยเครื่องอัลตราซาวด์เป็นระยะ ๆ จำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชักระหว่างรอคลอดจนถึงหลังคลอด 24 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีความเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ซึ่งอาจให้ยากระตุ้นชักนำการคลอด

ทั้งนี้ สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องสุญญากาศหรือคีมช่วยคลอดผ่าตัดคลอด เมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มารดามีภาวะปากมดลูกไม่เปิด เป็นต้น

> กลับสารบัญ


วิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ หรือเมื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้โดยมีวิธีการดังนี้

  • ลดอาหารรสเค็ม
  • ดื่มน้ำให้มากกว่า หรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • เพิ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ตับ ในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน อาหารผัดน้ำมัน และอาหารทอด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พยายามยกขาสูงเมื่อมีโอกาส เช่น ขณะนั่ง นอน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง
  • ฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • การป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยง

ตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงของการเกิดกาวะครรภ์เป็นพิษ

สตรีตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรอง ในช่วงอายุครรภ์ ที่ 11-13 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความเสี่ยงดั โดยใช้การวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดที่เลี้ยงมดลูก (Uterine Artery) ร่วมกับการตรวจสารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ ระดับโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือด (PIGF: Placental Growth Factor) และโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการ สร้างหลอดเลือด (sFit-1: Soluble Fms-like Tyrosine Kinase-1) เพราะหากเกิดความผิดปกติ แพทย์จะได้ติดตามอาการและวางแผนการดูแลรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

> กลับสารบัญ


ถึงแม้ว่าภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเป็นเรื่องน่าวิตกกังวล แต่ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงนัก ก็สามารถดูแลให้ปลอดภัยด้วยการตรวจครรภ์เป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากคุณได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการของครรภ์เป็นพิษ สูตินรีแพทย์จะให้การดูแลคุณและทารกในครรภ์เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่และเพื่อความปลอดภัยทั้งมารดาและทารกในครรภ์



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย