ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน การใช้เข็มร่วมกัน รวมไปถึงถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ โดยการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่ไปสู่ทารกมีความสำคัญมาก เพราะทารกที่ติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะมักไม่มีอาการแต่จะกลายเป็นโรคตับอักเสบบีเรื้อรังคือมีภาวะเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีในภายหลัง ถ้าแม่มีอาการตับอักเสบบีเฉียบพลันขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสติดไปที่ลูกมากกว่าที่เป็นเรื้อรังหรือพาหะธรรมดา ดังนั้น คุณแม่ควรตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่ลูกในครรภ์
สาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- การติดจากแม่สู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากการติดเชื้อขณะคลอด โดยการสัมผัสเลือดของแม่ขณะคลอด
- ติดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคโดยไม่สวมถุงยาง
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน หรือของใช้อื่นๆ ที่มีเลือดติดอยู่
- ผ่านการถ่ายเลือดที่ไม่ได้ตรวจหาโรคตับอักเสบบี
- ผ่านวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่อาจเกี่ยวข้องกับเลือด เช่น การฝังเข็ม
- การใช้อุปกรณ์การสักที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
หญิงตั้งครรภ์หากเป็นไวรัสตับอักเสบบีทำอย่างไร
หากหญิงตั้งครรภ์ตรวจพบว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ควรเข้ารับการรักษาโรคตับอักเสบบีในทันที เพื่อลดความเสี่ยงการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่ทารกในครรภ์ เนื่องจากทารกที่คลอดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีการติดเชื้อจากแม่ในอัตราที่สูงและมีโอกาสเป็นโรคแบบเรื้อรังสูงเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการป้องกันโดยฉีดสารภูมิต้านทานให้ลูกภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อให้มีภูมิป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเกิดขึ้นเลยทันที สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย อาจจะได้รับวัคซีนเมื่อมีอายุ 1 เดือนขึ้นไป
ทารกติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะส่งผลอย่างไร
หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดา ทารกมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรังถึง 90 % มีโอกาสป่วยเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ในระยะเวลา 25-30 ปี และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไป
หญิงตั้งครรภ์ป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้อย่างไร
- การฝากครรภ์ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ทันที เพื่อรับการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และตรวจหาระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์
- หากไม่พบเชื้อ เมื่อตรวจแล้วไม่พบว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี และ ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี
- หากตรวจพบว่าเป็นพาหะ จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างครอบคลุม กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารและตับ ควบคู่กับการดูแลครรภ์โดยสูตินรีแพทย์
ไวรัสตับอักเสบบีป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ควรฉีดตั้งแต่ในวัยเด็กแรกเกิด ในเด็กโตและในผู้ใหญ่ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่เพราะส่วนใหญ่อาจจะมีภูมิต้านทานการติดเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งสามารถทราบได้จากการตรวจเลือดว่าควรหรือไม่ควรรับวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็ม (0,1,6 เดือน) สามารถสร้างภูมิต้านทานในการป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต
ทั้งนี้การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในสตรีมีครรภ์ในปัจจุบันยังไม่พบมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ สามารถฉีดได้เหมือนคนปกติทั่วไป และเพื่อการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงปลอดภัยจากโรคร้ายที่อาจแทรกแซงได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับวัคซีนที่กำหนดให้ครบถ้วนตามคำแนะนำของแพทย์
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี