หลอดเลือดหัวใจตีบ แม้เป็นโรคที่อันตราย แต่รักษาได้
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ธิปกร ผังเมืองดี
อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก บริเวณอกข้างซ้ายหรือกลางอก เหมือนมีคนมากดทับ ถือเป็นอาการหลักของหลอดเลือดหัวใจตีบ บางรายที่รุนแรงอาจหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาโดยด่วน ปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ด้วยประสบการณ์แพทย์เฉพาะทาง เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้การรักษาสามารถทำได้หลายวิธีทั้งแบบไม่ต้องผ่าตัดและแบบผ่าตัด ซึ่งภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แม้เป็นโรคที่อันตราย แต่รักษาได้ เพียงรู้เท่าทัน และมาโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยอย่างทันท่วงที พร้อมสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพหัวใจออนไลน์ได้โดยส่งข้อมูลข้างล่างได้เลย
สารบัญ
หลอดเลือดหัวใจตีบตรวจได้ด้วยวิธีใดบ้าง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของคลื่นหัวใจระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจบริเวณหน้าอก และใช้เสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อจำลองภาพ ขนาด และการทำงานของหัวใจ
- การตรวจหาเส้นเลือดหัวใจตีบโดยใช้เครื่อง CT (CT Coronary) เป็นการตรวจการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) เพื่อหารอยตีบของเส้นเลือดหัวใจในกรณีที่มีหินปูนไม่มาก
- การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจหลอดเลือดหัวใจที่มีความแม่นยำสูง โดยการใส่สายสวนชนิดพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือหลอดเลือดแดงที่ข้อมือเข้าไปที่หัวใจและหลอดเลือดแดงที่หัวใจ หลังจากนั้นจะทำการฉีดสารทึบรังสีผ่านท่อเล็กๆ นี้ เพื่อถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจเพื่อตรวจหาบริเวณที่มีการตีบตันของหลอดเลือด และหากพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน แพทย์สามารถทำรักษาเพื่อทำการขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบด้วยการทำบอลลูนหัวใจและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ได้ในทันที สามารถทำได้แม้มีหินปูนมาก เป็นวิธีที่เก็บภาพชัดเจนที่สุด
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาได้
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีวิธีการรักษาหลายแบบ และแต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด
การทำบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty) หรือ การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์นิยมทำโดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่สามารถทำได้เลย ต่อจากการฉีดสีสวนหัวใจและพบการตีบของหลอดเลือดหัวใจ
โดยการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่ออ่อนที่มีบอลลูนขนาดจิ๋วอยู่ตรงปลายเข้าไปทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบจึงต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันไขมัน หรือคราบหินปูนที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด และใส่ขดลวด (stent) ที่มีลักษณะที่เป็นโครงตาข่าย เข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
2. การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางลัดหลอดเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตันให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยเส้นเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่ากัน โดยการผ่าตัดบายพาสหัวใจจะทำในกรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 70% มีอาการมาก หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมไปถึงในกรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบในบางตำแหน่งที่หากใช้การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดอาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้
การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
ปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ด้วยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ พร้อมทั้งมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ห้องผ่าตัด และห้องพักผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจที่ได้มาตรฐาน ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถทำได้หลายวิธีและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงไม่ต้องวิตกกังวลและกลัวต่อการรักษา โดยแพทย์จะเลือกการตรวจและรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย จึงมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาและดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ไบเพลน นวัตกรรมวินิจฉัยและร่วมรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำเครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ หรือ ไบเพลน (Biplane DSA) มาช่วยในการตรวจและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเครื่องไบเพลนจะสามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้สองระนาบในเวลาเดียวกัน คือ ด้านหน้า และด้านข้าง ทำให้ลดการใช้สารทึบรังสีลงได้ครึ่งนึงจากเครื่องปกติ ภาพที่ได้ออกมาจึงมีความคมชัด ช่วยให้แพทย์มองเห็นสายสวนหลอดเลือดที่ขนาดเล็กมากได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเห็นภาพเป็น 3 มิติ ทำให้สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความซับซ้อนและขดเคี้ยวได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นภัยเงียบที่อันตราย หากคนใกล้ชิดหรือคุณมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเฉียบพลันอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยทันที ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ดีที่สุดก็คือการดูแลรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงอยู่เสมอ และการเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี โดยศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลทุกปัญหาสุขภาพหัวใจของคุณแบบครบวงจร โทร. 02-450-9999 ต่อ 1074-1075
นพ.ธิปกร ผังเมืองดี
อายุรศาสตร์โรคหัวใจ / หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
ศูนย์หัวใจ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ