หลังทำบอลลูนหัวใจ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกต้อง
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เนื้อเยื่อผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวเพิ่มมากขึ้นและเกิดตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเฉียบพลัน และอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ ซึ่งแนวทางการรักษาในปัจจุบัน โดยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty) ถือเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีประสิทธิภาพ
การทำบอลลูนหัวใจ หรือ การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) ถือว่าเป็นการรักษาที่นิยมมาก เพราะเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องดมยาสลบ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ ใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องกังวลกับอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการทำบอลลูนหัวใจสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติอย่าง ปลอดภัยและถูกต้อง การปฏิบัติตัวหลังทำบอลลูนหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การปฏิบัติตัวหลังทำบอลลูนหัวใจเมื่ออยู่ที่โรงพยาบาล
การปฏิบัติตัวหลังทำบอลลูนหัวใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ควรปฏิบัติดังนี้
- ต้องนอนราบอย่างน้อยประมาณ 6 – 10 ชั่วโมง หลังทำการตรวจสวนหัวใจ
- กรณีทำการฉีดสีผ่านขาหนีบ หลังจากทำเสร็จจะดึงสายสวนออก และกดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยต้องนอนราบ และงอขาหนีบไม่ได้ 6-10 ชั่วโมง ไม่สามารถลุกนั่ง หรือเดินได้ในทันที
- กรณีทำการฉีดสีผ่านข้อมือ วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก อ้วนมาก หรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ โดยใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-8 ชม. หลังจากทำเสร็จสามารถลุก นั่ง หรือยืนได้ทันที มีเพียงสายรัดข้อมือ (TR band) ใส่ไว้ แต่ไม่นานก็สามารถถอดออกได้
- ระหว่างนี้ควรจะดื่มน้ำ ประมาณ 1 ลิตร หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำดื่ม เพื่อขับสารทึบรังสี
- สังเกตแผลตำแหน่งบริเวณที่ทำหัตถการ หากมีเลือดไหล ปวด บวม แดงร้อน หรือเย็น ซีด เป็นก้อน ให้แจ้งพยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้ทันที
- ถ้าปวดแผลบริเวณที่ทำหัตถการ สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
การปฏิบัติตัวหลังทำบอลลูนหัวใจเมื่อกลับไปอยู่บ้าน
- รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด เป็นต้น โดยไม่ควรหยุดยาเอง พร้อมสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอกให้มาพบแพทย์ทันที
- ดูแลแผลตำแหน่งที่ทำหัตถการอย่าโดนน้ำประมาณ 3 วัน หรือหากโดนให้ใช้เบตาดีนเช็ดบริเวณแผล
- งดออกกำลังกายหนัก งดการขับรถเอง หรือใช้แรงมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก
- หลังจาก 2 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายให้ถึงระดับเหนื่อยพอควรได้ วันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง/สัปดาห์ และไม่น้อยกว่า 5 วัน
- ห้ามยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม ประมาณ 1 เดือน หลังทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ
- หากไอหรือเบ่ง ให้กดบริเวณแผลไว้ หลังทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ ประมาณ 7 สัปดาห์ (ในกรณีทำบริเวณขาหนีบ)
- ในระยะแรก กิจวัตรประจำวันอาจทำไห้เหนื่อยง่ายได้ ดังนั้นควรพักผ่อนครั้งละ 20-30 นาที วันละ 2 ครั้ง ในเวลากลางวัน ไม่จำเป็นต้องนอนพักแค่นั่งพักก็เพียงพอ และพยายามนอนหลับให้ได้ 8-10 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพื่อไม่ให้เกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจในอนาคต ได้แก่
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ทองหยิบ ทองหยอด ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
- ควรลด ชา กาแฟ และน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควรรับประทานผักทุกชนิด ผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด เช่น มะละกอ พุทรา แอปเปิล ฝรั่ง เป็นต้น
- เลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร
- ปรับการดำเนินชีวิตประจำวันให้เหมาะสม มีเวลาพักผ่อนพอเพียง และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
- ควรกลับไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อเฝ้าดูอาการ และติดตามผลการรักษาของหลอดเลือดหัวใจ
อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์
- มีอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ ปวดหลัง
- มีอาการแน่นหน้าอกทันทีเมื่อพัก และอมยาแก้อาการแล้วไม่หาย
- บริเวณที่ใส่สายมีเลือดออก หรือบวม
- มีอาการแสดงว่าติดเชื้อ เช่น แผลแดง มีน้ำเหลือง มีไข้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทำบอลลูนหัวใจ เป็นการรักษาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติสุขได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องดูแลร่างกายตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการตีบตันซ้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ