อย่าให้การใช้ชีวิตต้องหยุดชะงักด้วย ‘โรคลมชัก’
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ทศพล สุรวัฒนาวงศ์
เชื่อว่าคนที่เป็นโรคลมชักคงเกิดอาการหวั่นวิตกไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าอาการจะกำเริบตอนไหน พลันทำให้ใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข ซึ่งโรคนี้ไม่เพียงแต่ตัวผู้ป่วยที่จะต้องรับมือกับอาการชักของตนเองแล้ว คนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวก็จะต้องรู้วิธีการรับมือกับอาการชักที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ถึงอย่างนั้นโรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นอีกนิด
สารบัญ
โรคลมชักเป็นอย่างไร
โรคลมชักเกิดจากสมองทำงานผิดปกติไปชั่วครู่ จนเกิดอาการชักขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งหากไม่สามารถทราบสาเหตุ ก็อาจรักษาได้อย่างไม่เต็มที่ ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคลมชักนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะบางอาการของโรคลมชักก็ใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคไมเกรน ภาวะตื่นตระหนก โรคกระเพาะ เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติม จึงจะทราบผลที่แน่ชัด โดยแพทย์จะทำการซักถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการชักจากผู้ป่วย ถึงสิ่งที่จดจำได้ในขณะที่เกิดอาการ หรือสัญญาณเตือนต่างๆ รวมถึงสอบถามจากญาติคนไข้ เพื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วย
อาการลมชัก
ร่างกายแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้
สาเหตุของอาการชัก
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคทางพันธุกรรม
- ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์
- การกระทบกระเทือนต่อสมองเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
- การติดเชื้อในสมอง
- เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่นๆ มาสู่สมอง
- ไม่ทราบสาเหตุ
ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้ชัก
- อดนอน นอนดึก
- กินยากันชักไม่สม่ำเสมอ
- เครียด
- รับประทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การรักษาโรคลมชัก
- กินยากันชักสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นอาการชัก
- งดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การปีนที่สูง การว่ายน้ำคนเดียว ขับรถ เป็นต้น
- สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อยา 2 ชนิดขึ้นไป จำนวนหนึ่งจะสามารถผ่าตัดสมอง เพื่อให้หายขาดจากโรคลมชักได้
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น
- ประคองผู้ป่วยให้นอนหรือนั่งลง สอดหมอนหรือวัสดุอ่อนนุ่มไว้ใต้ศีรษะ
- ตะแคงศีรษะให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก
- อย่าใส่สิ่งของเข้าไปในปากผู้ป่วย รวมถึงการสอดนิ้วเข้าไปในปาก
- กวาดโต๊ะเก้าอี้ตู้ที่อยู่รอบๆ ออกเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกระแทก
- ส่วนใหญ่อาการชักมักจะไม่เกิน 5 นาทีแต่ถ้านานกว่านั้น ให้พาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
โรคลมชักส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมีอาการชักเกิดขึ้นแล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ ด้วยการกินยากันชักตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยคนไข้ที่คุมได้ด้วยยากันชัก ถ้ากินยา 3-5 ปี ส่วนใหญ่จะลดยากันชัดได้ ถ้าคุมชักด้วยยากันชักได้ดี โดยมีบางส่วนที่สามารถหยุดยากันชักได้ โดยผู้ป่วยที่คุมชักได้ดีนั้นสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ยกเว้นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท