อาการปัสสาวะเล็ด เรื่องไม่เล็กสำหรับผู้หญิง
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์
มีผู้หญิงวัย 40+ หลายคนต้องเผชิญกับ อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไอจามมีปัสสาวะเล็ด ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่นำมาเล่าให้ใครฟังได้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าอาย จนทำให้ขาดความมั่นใจ และอาจกลายเป็นปัญหาในชีวิตไปเลยก็ว่าได้ สำหรับคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาปัสสาวะเล็ด คงกังวลและเครียดอยู่ไม่น้อย ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความรู้จัก อาการปัสสาวะเล็ด รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้กัน เพื่อจะได้เข้าใจและรับมือได้ทันเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง
สารบัญ
อาการของโรคปัสสาวะเล็ด
ปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ ทำให้มีปัสสาวะไหล เล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ และอาจรู้สึกปวดปัสสาวะมากจนกลั้นไว้ไม่อยู่ โดยอาจเกิดขึ้นขณะไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก ซึ่งปกติแล้วจะพบในผู้หญิงสูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในผู้หญิงอายุน้อยด้วยเช่นกัน
ปัสสาวะเล็ดในผู้หญิงเกิดจากอะไร
เกิดจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งเส้นเอ็นที่พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงอ่อนแอลง หรือเกิดภาวะหย่อนยานของผนังช่องคลอดด้านหน้า ทำให้ไม่สามารถพยุงท่อปัสสาวะไม่ให้มีการหย่อนตัวได้ ซึ่งในขณะที่เรา ไอ จาม หรือออกกำลังกายนั้นจะมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้องเกิดขึ้น ส่งผลให้ท่อปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะที่หย่อนตัว ไม่สามารถปิดกั้นแรงดันปัสสาวะที่ถูกส่งผ่านแรงดันมาจากในกระเพาะปัสสาวะได้ จึงทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดออกมานั่นเอง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดแบ่งออกเป็นแต่ละประเภทดังนี้
- อายุที่มากขึ้น มีส่วนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานกระเพาะปัสสาวะ เกิดความเปลี่ยนแปลงและบรรจุน้ำปัสสาวะได้น้อยลง
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยให้เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะมีความแข็งแรง และเมื่อผลิตฮอร์โมนนี้น้อยลงจึงทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวเสื่อมสภาพ
- การคลอดบุตร โดยเฉพาะจำนวนของการคลอดบุตร จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอลง จนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (คนอ้วน) หรือ โรคอ้วน เพราะไขมันส่วนเกิน จะเข้าไปกดทับบริเวณท้องน้อย เพิ่มแรงกดทับลงบนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีการบีบตัวส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลเล็ดออกมาได้
แนวทางรักษาอาการปัสสาวะเล็ด
- การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่กระตุ้นหรือเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ด เช่น ลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม เป็นต้น
- การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขความบกพร่องที่เกิดขึ้นต่อการพยุงท่อปัสสาวะ
- การใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอด นวัตกรรมที่ถูกออกแบบเพื่อฟื้นฟูช่องคลอดให้กระชับ เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื้อในช่องคลอด ทำให้ท่อปัสสาวะที่มีปัญหากลับมาใช้งานได้ตามปกติ ลดอาการปัสสาวะเล็ด
ทั้งนี้ หากท่านใดมีอาการหรือมีความกังวลใจ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต่อไป
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้