“เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก” อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติ ของโรคหัวใจ

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

“เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก” อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติ ของโรคหัวใจ

เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกแบบเฉียบพลันเป็นระยะเวลานานกว่า 20-30 นาทีถือว่าเป็นอาการนำของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากมีไขมันสะสมเพิ่มพูนขึ้นภายในผนังหลอดเลือดเกิดการอุดตันจนไม่สามารถส่งผ่านเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและทำงานผิดปกติเฉียบพลัน ภาวะดังกล่าวสามารถนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ควรเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาจากแพทย์อย่างทันที


เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เป็นอย่างไร

เจ็บหน้าอก หรือ แน่นหน้าอก เป็นอาการที่เกิดจากการเจ็บปวดด้านหน้าและด้านในของทรวงอก ไม่ใช่การเจ็บปวดตรงส่วนด้านหลังของทรวงอก อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเป็นอาการที่พบบ่อยอีกอาการหนึ่งของอาการทั้งหมดที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย


อาการแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจ และควรมาพบแพทย์

  • เจ็บหน้าอกอย่างกะทันหัน และเป็นระยะเวลานาน
  • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก
  • เจ็บหน้าอก และรู้สึกปวดร้าวไปถึงบริเวณหัวไหล่
  • เจ็บหน้าอกหากทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก
  • มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
  • หอบเหนื่อยง่ายผิดปกติ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นขณะออกแรง เป็นขณะพัก ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องระวังอาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว

ทั้งนี้ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) จะมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกนำมาก่อน แต่โดยส่วนมากจะมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ หัวใจเต้นแรง มีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด วูบ เป็นลมและเหงื่อออกผิดปกติ หากพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นเกินกว่า 20 -30 นาที ถือว่าอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว


วิธีตรวจให้รู้ว่าอาการเจ็บหน้าอกเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือไม่

หากมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเกิดขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพผู้ตรวจและของบุคคลภายในครอบครัว พร้อมกับตรวจร่างกายโดยละเอียดซึ่งจะช่วยให้ระบุได้ว่าเป็นโรคหัวใจ หรือกำลังจะเริ่มเป็นได้ รวมไปถึงแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ ดังนี้

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  2. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจบริเวณหน้าอก และใช้เสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อจำลองภาพ ขนาด และการทำงานของหัวใจ
  3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก
  4. การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เอกซเรย์ดูว่ามีส่วนใดของหลอดเลือดอุดตันหรือตีบบางหรือไม่

เจ็บหน้าอกแน่นหน้าอกแค่ไหนต้องรักษาด้วยบอลลูนหัวใจ

ในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก โดยมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น หายใจไม่ค่อยออก มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ รวมทั้งมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจเร็วโดยเป็นขณะออกแรง เป็นขณะพัก ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบเดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้วพบว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หรือ มีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ซึ่งการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจให้กว้างขึ้น ด้วยการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่ออ่อนที่มีบอลลูนขนาดจิ๋วอยู่ตรงปลายเข้าไปทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบจึงต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันให้บอลลูนขยายออก เบียดคราบไขมัน คราบหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดให้ยุบแบนลงและขยายหลอดเลือดให้กว้างออก เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง      ทั้งนี้การทำบอลลูนหัวใจแพทย์อาจพิจารณาใส่ขดลวด (stent) ที่มีลักษณะที่เป็นโครงตาข่าย เข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบเพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งที่ทำการขยายบอลลูนร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก สามารถเกิดจากโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคปอดบวม โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ เกิดจากภาวะความเครียด กังวล เป็นต้น ทางที่ดีที่สุด คือ การเข้ารับการตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และทันท่วงที


พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล

พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล
อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย